เด็กไทยคว้า 13 รางวัลใหญ่ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชนระดับโลกREGENERON ISEF 2024 ที่สหรัฐฯ Grand Awards 9 รางวัล Special Awards 4 รางวัล “ศุภมาส” ยินดีและชื่นชมเยาวชนทุกคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองจนคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ชี้เด็กไทยกล้าคิด กล้าทำ กล้าริเริ่ม

.
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2567 มีการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2024 (Regeneron International Science and Engineering Fair) จัดโดย Society for Science ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่งทีมเยาวชนไทย จำนวน 15 ทีม เข้าร่วมแข่งขันกับตัวแทนเยาวชนกว่า 75 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 พ.ค. 2567

.

ผลการแข่งขันปรากฎว่าทีมเยาวชนไทยสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการคว้า 13 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 9 รางวัลใหญ่ และรางวัล Special Awards จำนวน 4 รางวัล รวมได้รับรางวัลมูลค่ากว่า 18,300 ดอลลาร์สหรัฐ

.
โดยรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 3 รางวัล

.

1. ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงาน Bee’s spa: นวัตกรรมแอ่งโคลนเทียมสำหรับให้แร่ธาตุในการเพาะเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera บนพื้นที่สูงเพื่อลดการตายในฤดูแล้ง โดยมี นายวิษณุชัย หัตถกอง นายรัตนโกสินทร์ ภิราษร และนายธนภัทร สมญาพรเจริญชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา
2. ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) จากโครงงานการศึกษาผลของมุมยอดของรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีผลต่อการไหลแบบ acoustic streaming โดยมี นายกรกฤต ต้นพงษ์พันธุ์ และ นายเวโรจน์ บุญราช เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
3. ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลในสาขาพฤกษศาสตร์ (Plant Sciences) กับโครงงานวิธีการเพาะไข่น้ำแนวใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตโปรตีนสำหรับพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน โดยมี นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ และนายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ครูที่ปรึกษา

.

รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่
1.ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงานการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการผลิตไบโอดีเซลจากการย่อยสลายและการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรโดยหนอนแมลงวันลาย โดยมี นายณภูดล ศรีรัตนา และนายปพนพัชร์ วิรุฬห์ไววุฒิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นครูที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา Life Sciences ที่เป็นองค์กรสนับสนุนความก้าวหน้าของงานวิจัยและการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ได้รับเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองด้วย
2.ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ในสาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & Intelligent Machines) จากโครงงานระบบวิเคราะห์คุณภาพลูกกุ้งความแม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม โดยมี นายปฏิพนธ์ ติยะปัญจนิตย์ และนายทินภัทร เสียมไหม เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นครูที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน Association for Computing Machinery (ACM) ได้รับเงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองอีก 1 รางวัล
3.ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต (Translational Medical Science) จากโครงงาน EiPCA: อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาแบบ 12 ลีด โดยมี นายคุณาสิน สุขศรี นายพีรพัฒน์ วัฒนกิจ และนางสาวพัชรดา เทวาดิเทพ ผู้จัดทำโครงงาน และดร.ขัติยา ปิยะรังษี เป็นครูที่ปรึกษา

.

นอกจากนี้ ทีมเยาวชนจากประเทศไทยยังได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 พร้อมเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ อีก 3 รางวัล ได้แก่
1. ร.ร.ห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงานนวัตกรรมกิ่งไม้เทียมสำหรับเลี้ยงแมลงครั่งเพื่อเพิ่มผลผลิตครั่งอย่างยั่งยืน โดยมีนายวรฤทธิ์ สุยาละ และนางสาววิภารัตน์ รวยทรัพย์โภคิน เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายกีรติ ทะเย็น เป็นครูที่ปรึกษา
2.ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) จากโครงงานการเปรียบเทียบคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นจากระบบหลุมดำคู่กับคลื่นแบบหมุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของก้อนมวลบนผืนผ้าสแปนเด็กซ์ โดยมีนายคณิศร สว่างไสว และนายภูดิศ ธนกุลไกรฤทธิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
3.ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Envionmental Engineering) กับโครงงานเอนไซม์ขนาดเล็กเพื่อการย่อยสลายพลาสติกพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) โดยมีนางสาววิรัลพัชร จิรัฐิติเจริญ นางสาวปวรวรรณ ไชยวงศ์ และนางสาวอภิปรียา ปวบุญสิริวงศ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางสาวอาจรีย์ ธิราช ร.ร.กำเนิดวิทย์ และดร.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง เป็นที่ปรึกษา

.

ขณะเดียวกันทีมเยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัล Special Awards ได้อีก 2 รางวัล ได้แก่
1.ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัล Special Awards อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development (USAID) ได้รับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯกับโครงงานการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดมะขามป้อม โดยมีนางสาวสิริอาภา ปันทุราภรณ์ และนางสาวสิริปภา ปันทุราภรณ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางจันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ เป็นที่ปรึกษา
2.ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับ Special Award รางวัลชมเชย จากหน่วยงาน Association for the Advancement of Artificial Intelligence กับโครงงานโครงการแพลตฟอร์มช่วยตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นด้วยตาโดยเอไอ โดยมีนายเลนนี โธมัส นางสาวธัญญาดา ทองใบ นายติณณ์ โพธิกานนท์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางรุ่งกานต์ วังบุญ เป็นครูที่ปรึกษา

.

ด้าน น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีและชื่นชมเยาวชนทุกคนที่ได้มุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่จนได้คว้ารางวัลมาได้สำเร็จ การแข่งขัน REGENERON ISEF 2024 ถือเป็นเวทีการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก สำหรับเยาวชน ต้องขอขอบคุณ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ NSM สวทช. วช. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีโอกาสพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการมีเวทีให้นักเรียนได้แสดงผลงานความสามารถ เป็นการต่อยอดความรู้ ปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีความใฝ่ฝัน กล้าคิด กล้าทำ กล้าริเริ่ม อนาคตของชาติไทยอยู่ในมือของเยาวชน การสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป”

.

ด้าน รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดี “ปีนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ NSM ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 9 ทีม โดยผลงานถูกคัดเลือกจากการประกวดในค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 19 และการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 ประจำปี 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์มหาวิทยาลัยภูมิภาคทั้ง 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ในปีนี้ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และหวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนต่อไป”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM “กล่าวชื่นชมเยาวชนไทยทั้ง 15 ทีม ว่าได้แสดงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งทฤษฎี การประยุกต์ใช้งาน และการนำเสนอผลงาน “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นเยาวชนไทยแสดงความสามารถที่เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก รางวัลที่ได้รับมาแสดงให้เห็นถึงการทุ่มเทศึกษา ค้นคว้า ทดลองอย่างต่อเนื่องของนักเรียนตลอดจนครูที่ปรึกษา และเชื่อมั่นว่าทุกผลงานจะได้รับการเผยแพร่และต่อยอดสู่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป”

.

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างขุมกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างขุมกำลังในด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผ่านการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition, YSC) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 9 สาขา ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
โดยทีมเยาวชนไทยจะเดินทางกลับจากการแข่งขันถึงประเทศไทยในวันที่ 20-21 พ.ค. 2567 นี้ สามารถติดตามข่าวสารและร่วมแสดงความยินดีได้ที่เพจ FB: NSMTHAILAND

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000042966