Handwriting robot

ในอดีตที่อาจไม่ต้องย้อนไปไกลนัก การเขียนจดหมายด้วยลายมือเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ในวันนี้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย จนหลายครั้งข้อความที่ถูกส่งไป ขาดปฏิสัมพันธ์ ความเป็นมิตร และความประทับใจส่วนตัว

.

ด้วยเหตุนี้ บริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแอริโซนาจึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเขียนจดหมายด้วยปากกา โดยลูกค้าสามารถเลือกลักษณะตัวอักษรได้เองตามต้องการ

.

เดวิด แวคซ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Handwrytten

เดวิด แวคซ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแฮนริทเทน (Handwrytten) เว็ปไซต์ที่ให้บริการเขียนข้อความสั้นหรือจดหมายผ่านลายมือด้วยหุ่นยนต์ กล่าวกับวีโอเอ ว่า “สิ่งที่เคยล้าสมัยกลับมาเป็นสิ่งที่ดูใหม่อีกครั้ง การได้รับโน้ตที่เขียนด้วยลายมือนั้นไม่เพียงดึงดูดทางสายตา แต่ยังให้ความรู้สึก และนั่นมีความหมายอย่างมาก”

.

หนึ่งในลูกค้าหลักของธุรกิจนี้ คือ องค์กรที่ใช้จดหมายและข้อความขอบคุณขนาดสั้นที่เขียนด้วยลายมือ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มผู้สนับสนุน

.

ผู้ก่อตั้ง Handwrytten เผยว่า องค์กรไม่แสวงผลกำไรคือเป้าหมายหลักที่บริษัทมุ่งทำธุรกิจด้วย เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดที่องค์กรเหล่านี้เผชิญ คือ อัตราการบริจาคซ้ำที่มีน้อยกว่า 50% และการส่งข้อความผ่านตัวอักษรลายมือเขียนไปยังผู้บริจาค เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มยอดบริจาคซ้ำได้

.

เครื่องช่วยเขียน "Handwrytten"

แวคซ์ชี้ว่า “เหตุผลอันดับหนึ่งที่ผู้คนตัดสินใจไม่บริจาคซ้ำ เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าได้รับการแสดงความขอบคุณ ดังนั้น เราจึงช่วยให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรเหล่านี้มีวิธีสื่อสารความหมายที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ผ่านข้อความเขียนด้วยลายมือ”

.

ทั้งนี้ การเขียนจดหมายด้วยลายมือผ่านเครื่องมือทุ่นแรงไม่ใช่สิ่งใหม่

.

ในช่วงต้นคริสต์ศตศวรรษที่ 1800 โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ได้ใช้อุปกรณ์ทำสำเนาโพลีกราฟ (Polygraph) เพื่อเก็บสำเนาจดหมายโต้ตอบเอาไว้ โดยอดีตผู้นำนี้มองว่า อุปกรณ์ทำสำเนาเป็นเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์

.

และในฐานะที่เป็นนักประดิษฐ์เช่นกัน เขาได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ดังกล่าวหลายประการแก่ผู้ผลิตในอังกฤษด้วย

.

เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 200 ปี กระบวนการทำสำเนาด้วยลายมือถูกพัฒนามากขึ้น จนถึงขั้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ด้วยตนเองและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง

.

แวคซ์ ซีอีโอของ Handwrytten อธิบายว่า วิวัฒนาการในเรื่องนี้ขยายความมาถึงการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ เช่น การพิมพ์สามมิติ การตัดด้วยเลเซอร์ และการออกแบบแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับหุ่นยนต์

.

สำหรับระบบของ Handwrytten นี้ ข้อดีอีกประการคือ หากผู้ใช้บริการนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรลงไปในข้อความ เว็บไซต์ของบริษัทมีปุ่มขอความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT เพื่อช่วยสร้างข้อความที่น่าสนใจมากขึ้นได้

.

หน้าเว็บของ Handwrytten

อย่างไรก็ดี แม้หุ่นยนต์จะถูกพัฒนามาช่วย ‘เขียน’ แทนมนุษย์ได้มากขึ้น นวัตกรรมนี้ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดอารมณ์ได้อย่างครบถ้วน

.

ถึงกระนั้น ทางบริษัทเชื่อว่า ในอนาคตหุ่นยนต์จะสามารถเขียนจดหมายได้ไม่แตกต่างจากที่มนุษย์บรรจงเขียนขึ้นมาด้วยตนเองได้ในที่สุด

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/robots-hand-write-letters-for-humans-/7557394.html