โอราน (ขวา) อาศัยอยู่กับคุณแม่ของเขา
การทดลองการนำเอาเครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาท (neurostimulator) แบบใหม่มาติดตั้งที่กะโหลกศีรษะของผู้ป่วยลมชักรุนแรงเพื่อควบคุมอาการลมชักได้สำเร็จ ถือเป็นความหวังและชีวิตใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคนี้
.
ล่าสุด โอราน โนวล์สัน เด็กชายคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคลมชักขั้นรุนแรงที่เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ กลายเป็นผู้ป่วยลมชักคนแรกของโลกที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปในส่วนลึกของสมองของเขาและช่วยลดอาการลมชักในช่วงกลางวันได้ถึง 80%
.
จัสติน แม่ของเขาบอกกับบีบีซีว่า เขามีความสุขมากขึ้นและยังมีช่วงเวลาที่มีคุณภาพที่ดีมากขึ้นด้วย
.
สำหรับการผ่าตัด [นำอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งบนกะโหลกศีรษะของเขา] เกิดขึ้นในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบที่โรงพยาบาลเกรท ออร์มอนด์ สตรีท ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ในขณะนั้นโอรานอายุ 12 ปี แต่ตอนนี้เขาอายุ 13 ปีแล้ว
.
โอราน มาจากมณฑลซัมเมอร์เซ็ต มีอาการลมชักที่มีความรุนแรงในเด็ก (Lennox-Gastaut syndrome) โดยพบอาการนี้เมื่อเขาอายุได้ราวสามขวบ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการชักหลายครั้งในหนึ่งวัน ตั้งแต่สองครั้งไปจนถึงหลายร้อยครั้งเลยทีเดียว
.
เมื่อทีมงานได้ติดต่อไปยังแม่ของโอรานครั้งแรกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว ก่อนที่จะเขาจะเข้ารับการผ่าตัด เธออธิบายว่า อาการลมชักของลูกชายมีผลต่อการใช้ชีวิตของเขาอย่างไร
.
"มันขโมยช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาไปหมดเลย"
.
เธอยังบอกอีกว่า โอรานมีอาการชักกระตุกในหลายระดับ เช่นว่า ทำให้เขาฟุบลงกับพื้น ตัวสั่นอย่างรุนแรง ไปจนถึงหมดสติเลย บางครั้งถึงขั้นหยุดหายใจก็มีจนต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตของเขาไว้
.
นอกจากนี้โอรานยังมีภาวะออทิสซึมและภาวะสมาธิสั้นอีกด้วย แต่จัสตินบอกว่า อาการลมชักของเขาเป็นอุปสรรคใหญ่ที่เกิดกว่าจะจัดการได้
.
"ฉันมีลูกชายวันสามขวบที่ค่อนข้างสดใส แต่ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่พบอาการชัก ร่างกายของเขาก็เริ่มทรุดโทรมอย่างรวดเร็วและสูญเสียทักษะต่าง ๆ
.
อย่างไรก็ดี โอรานได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CADET ซึ่งจะทดลองประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทในสมองสำหรับผู้ป่วยลมชักขั้นรุนแรงเป็นระยะ ๆ โดยผ่านความร่วมมือของพันธมิตรหลัก ประกอบด้วยโรงพยาบาลเกรท ออร์มอนด์ สตรีท มหาวิทยาลัยคอลเลจกรุงลอนดอน โรงพยาบาลของคิงส์คอลเจจ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
.
ส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวที่เรียกว่า Picostim ผลิตโดยบริษัท แอมเบอร์ เทอราปูติกส์ (Amber Therapeutics) ในอังกฤษ
.
อุปกรณ์ทำงานอย่างไร
อาการชักกระตุกมีสาเหตุมาจากการปะทุขึ้นอย่างผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง
.
อุปกรณ์ดังกล่าวจะปล่อยกระแสชีพจรแบบคงที่ออกไป เพื่อปิดกั้นหรือรบกวนสัญญาณของกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติดังกล่าว
.
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด จัสตินบอกทีมงานบีบีซีว่า "ฉันต้องการให้เขากลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง แม้ว่ายังคงจะมีเมฆหมอกแห่งภาวะลมชักยังอยู่ก็ตาม ฉันอยากได้ลูกชายคนเดิมกลับคืนมา"
.
การผ่าตัดเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวบนกะโหลกศีรษะของเขาใช้เวลานานราวแปดชั่วโมง ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว
.
ทีมผ่าตัดนำโดย มาร์ติน ทิสดัลล์ ที่ปรึกษาด้านกุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา ได้สอดขั้วไฟฟ้าสองชิ้นลึกเข้าไปในสมองของโอรานจนถึงเนื้อสมองส่วนทาลามัส ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดสัญญาณข้อมูลทางประสาท
.
ความคลาดเคลื่อนในการวางแผ่นตะกั่ว [ในการผ่าตัด] ต้องน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตร ส่วนปลายของแผ่นตะกั่วจะเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นกระแสประสาท อุปกรณ์นี้มีขนาดราว 3.5 ตารางเซนติเมตรและมีความหนาอยู่ที่ 0.6 เซนติเมตร โดยจะฝังลงแทนส่วนของกะโหลกที่ถูกตัดออกไป และอุปกรณ์ดังกล่าวจะยึดติดเข้ากับกะโหลกรอบ ๆ อีกที
.
อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกฝังลงในกะโหลกศีรษะ
ก่อนหน้านี้ การกระตุ้นสมองส่วนลึกได้รับการทดสอบแล้วสำหรับผู้ป่วยลมชักในระยะเด็ก แต่จนถึงปัจจุบัน เครื่องกระตุ้นกระแสประสาทถูกติดตั้งไว้บนหน้าอกของผู้ป่วย โดยจะมีการใส่สายเชื่อมต่อไปยังสมอง
.
มาร์ติน ทิสดัลล์ บอกกับบีบีซีว่า "หวังว่า การศึกษานี้จะช่วยให้พวเราสามารถชี้ให้เห็นว่า การกระตุ้นสมองส่วนลึกเป็นวิธีการรักษากลุ่มผู้ป่วยลมชักชนิดรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และยังค้นหาอุปกรณ์ใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก เนื่องจากการปลูกถ่ายอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีขึ้นบนกะโหลกศีรษะ ไม่ใช่หน้าอกอีกแล้ว
.
"เราหวังว่า วิธีการดังกล่าวจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้"
.
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อหลังการผ่าตัดและกรณีอุปกรณ์ไม่ทำงาน
.
หูฟังของโอรานสามารถชาร์จแบตเตอรีให้กับอุปกรณ์ในศีรษะของเขาได้
โอรานใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายราวหนึ่งเดือนหลังจากรับการผ่าตัด ก่อนที่จะเปิดใช้งานเครื่องกระตุ้นกระแสประสาท
.
เมื่อเปิดใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โอรานก็ไม่รู้สึกอะไร และเขายังสามารถชาร์จหรือเติมแบตเตอรีได้ทุกวันผ่านหูฟังไร้สาย ขณะที่เขาทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ดูทีวี เป็นต้น
.
ทีมข่าวได้เดินทางไปเยี่ยมโอรานและครอบครัวเจ็ดเดือนหลังจากที่เขาผ่าตัดเพื่อดูว่า พวกเขาเป็นอย่างไร
.
จัสตินผู้เป็นแม่บอกว่า อาการชักกระตุกของโอรานดีขึ้นมาก
.
"เขามีความว่องไวมากขึ้น โดยไม่มีอาการชักกระตุกในระหว่างวัน"
.
ส่วนในตอนกลางคืน อาการชักกระตุกก็ "มีระยะเวลาสั้นลงและดูรุนแรงน้อยลง"
.
"ฉันมั่นใจว่า ฉันจะได้ลูกคนเดิมกลับคืนมาอย่างช้า ๆ " เธอเล่า
.
มาร์ติน ทิสดัลล์ บอกว่า "พวกเราดีใจที่ได้เห็นว่า โอรานและครอบครัวได้รับประโยชน์อย่างมากจากการรักษาวิธีนี้ และได้ช่วยให้อาการชักของเขาดีขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
ในตอนนี้ โอรานกำลังเรียนขี่ม้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขามีความสุข
.
แม้ว่าจะยังมีนางพยาบาลหนึ่งคนที่ต้องถือสายออกซิเจน และต้องมีครูอยู่ข้าง ๆ ในกรณีที่จำเป็น หรือไม่ก็ต้องการทั้งสองอย่าง
.
ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลอง มีเด็กอีกสามคนที่มีอาการลมชักที่มีความรุนแรงที่จะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว
.
ปัจจุบัน โอรานต้องถูกกระตุ้นทางไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจากอุปกรณ์ของเขา แต่ในอนาคต ทีมทดลองวางแผนที่จะผลิตเครื่องกระตุ้นกระแสประสาทที่สามารถตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่าง ๆ ในสมองของเขา และขัดขวางอาการชักก่อนที่จะอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้น
.
จัสตินบอกว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นที่สุดเมื่อทราบว่า การทดสอบระยะถัดไปกำลังจะมีขึ้น
.
"ทีมแพทย์ในโรงพยาบาลเกรท ออร์มอนด์ สตรีท ได้ให้ความหวังพวกเราอีกครั้ง ตอนนี้อนาคตดูเหมือนกำลังจะสดใส"
.
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของโอรานรู้ดีว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ไม่ใช่การรักษาอาการ แต่พวกเขาก็มองโลกในแง่ดีว่า เขาจะยังคงออกมาจากมุมมืดที่มาจากภาวะการชักกระตุกของเขาได้
.
นอกจากเครื่อง Picostim จะใช้ในการบำบัดผู้ที่มีภาวะลมชักแล้ว ยังใช้บำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันด้วย
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/ced3wxxkx01o