การประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนา “รกเทียม” หรือ “ครรภ์มารดาเทียม” (artificial womb) อาจช่วยชีวิตทารกที่เกิดก่อนกำหนดไว้ได้เป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า อะไรคือข้อควรระวังทางศีลธรรมและจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึง ก่อนที่การทดลองระดับคลินิกในมนุษย์จะเริ่มขึ้น

.

แม้ประเด็นข้างต้นจะฟังดูเหมือนโครงเรื่องแย่ ๆ ของภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์คุณภาพต่ำ ซึ่งมักจะเล่าถึงทารกในครรภ์ที่ถูกพรากออกจากท้องแม่ แล้วนำไปเลี้ยงในขวดโหลบรรจุของเหลวสีสันแปลกประหลาดแทน แต่นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในตอนนี้ ที่โรงพยาบาลเด็กแห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย (Children’s Hospital of Philadelphia – CHOP) ของสหรัฐฯ โดยเป็นการทดลองเพื่อค้นหาวิธีช่วยชีวิตทารกที่ลืมตาดูโลกก่อนกำหนดหลายเดือน

.

ทีมนักวิจัยทางการแพทย์ของ CHOP กำลังพัฒนาระบบครรภ์มารดาเทียมที่เรียกว่า “สภาพแวดล้อมนอกมดลูกเพื่อการเติบโตของทารกแรกเกิด” (EXTEND) อุปกรณ์นี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อหล่อเลี้ยงทารกตั้งแต่แรกปฏิสนธิไปจนถึงครบกำหนดคลอด เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จะใฝ่ฝันกันมานานก็ตาม แต่อุปกรณ์นี้สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกที่เกิดก่อนกำหนดมาก ๆ เพราะภาวะดังกล่าวอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการในระยะยาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต

.

การตั้งครรภ์ตามปกติใช้เวลาประมาณ 40 สัปดาห์ โดยถือว่าทารกครบกำหนดคลอดแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ 37 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม อาจมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่ทำให้แม่คลอดทารกออกมาก่อนกำหนดได้

.

โชคดีที่ความก้าวหน้าของวิทยาการด้านกุมารเวชศาสตร์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้ทารกที่เกิดก่อนกำหนดส่วนใหญ่รอดชีวิต และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพน้อยมาก ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า 30% ของเด็กที่เกิดเมื่อแม่มีอายุครรภ์เพียง 22 สัปดาห์ สามารถจะอยู่รอดได้หากมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ในแผนกผู้ป่วยหนักสำหรับทารกแรกเกิด (NICU)

.

ทารกที่เกิดเมื่อแม่มีอายุครรภ์เพียง 22 สัปดาห์ เผชิญความท้าทายใหญ่หลวงในการมีชีวิตรอด โดยต้องเข้ารับการดูแลในแผนกผู้ป่วยหนักสำหรับทารกแรกเกิด (NICU) ตลอดเวลา

แพทย์หญิงสเตฟานี คูโครา ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด (neonatologist) จากโรงพยาบาลเด็ก Children’s Mercy Hospital ในเมืองแคนซัสซิตีของสหรัฐฯ บอกว่า “อันที่จริงแล้ว เด็กที่เกิดก่อนกำหนดตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือแม้แต่ 27 สัปดาห์ มีสุขภาพโดยทั่วไปในระดับที่ดีมาก แต่เด็กที่เกิดตอนอายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ต่างหากที่น่าเป็นห่วง เพราะมักมีอาการหนักจนเราไม่แน่ใจว่า สามารถยอมรับคุณภาพชีวิตในระดับที่เด็กเป็นอยู่ได้หรือไม่”

.

ทารกที่เกิดมาในสภาพเกือบจะไม่รอด มักต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง โดยเด็กเหล่านี้มักจะหนักไม่ถึง 900 กรัม ส่วนอวัยวะสำคัญอย่างปอด, หัวใจ, ระบบทางเดินอาหาร, และสมอง ยังคงพัฒนาไม่เพียงพอที่จะทำงานพยุงชีพของพวกเขาเอาไว้ได้ หากไม่มีการดูแลในแผนกผู้ป่วยหนักสำหรับทารกเข้าช่วย

.

ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ภาวะลำไส้อักเสบเน่าตาย (necrotising enterocolitis - NEC) ซึ่งเป็นอาการอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อในลำไส้เล็กจนมันตายลง นอกจากนี้เด็กอ่อนยังติดเชื้อโรคต่าง ๆ หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ได้ง่าย ซึ่งอาการอย่างหลังนี้ทำให้เกิดภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำ จนอวัยวะสำคัญภายในอย่างเช่นปอด, ตับ, ไต ได้รับความเสียหายและทำงานล้มเหลว หากรักษาไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้

.

ส่วนผลกระทบระยะยาวจากการเกิดก่อนกำหนดหลายเดือนนั้น ยังได้แก่ภาวะสมองพิการ (cerebral palsy), มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในระดับปานกลางถึงรุนแรง, สายตาและการได้ยินเสียงบกพร่อง, รวมถึงอาจจะเป็นโรคหอบหืดด้วย

.

แม้แต่เทคโนโลยีที่ประดิษฐ์คิดค้นมาเพื่อการช่วยชีวิตเด็กที่เกิดก่อนกำหนด อย่างเช่นอุปกรณ์ให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารก ก็ยังเป็นอันตรายต่อปอดอันบอบบางของพวกเขาได้

.

ศ.นพ. จอร์จ ไมชาลิสกา ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จากโรงพยาบาลเด็กซีเอสม็อตต์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้คำอธิบายว่า “ทารกในครรภ์ที่ยังไม่ครบกำหนดคลอด มีปอดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่และภายในปอดควรจะเต็มไปด้วยของเหลว แต่เรากลับใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมของเด็ก ยัดเยียดอากาศและอ็อกซิเจนเข้มข้นแรงดันสูงลงไปในปอดที่อ่อนแอจนมันเสียหาย โดยมีรายงานทางการแพทย์ที่ระบุถึงกรณีดังกล่าวบ่อยครั้ง”

.

ไม่นานอาการบาดเจ็บที่ปอดจะทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งนำไปสู่โรคปอดเรื้อรังจากการเจริญผิดปกติของหลอดลมและเนื้อปอด (bronchopulmonary dysplasia) ทารกที่เกิดก่อนกำหนดซึ่งเป็นโรคนี้ มักต้องให้ออกซิเจนและใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราวไปตลอดชีวิตแม้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งการใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาว มักเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะจอประสาทตาบอด (retinal blindness) เนื่องจากการได้รับออกซิเจนในปริมาณสูง รบกวนการก่อตัวของเส้นเลือดเลี้ยงจอประสาทตา ซึ่งจะยังไม่เจริญขึ้นจนกว่าทารกในครรภ์จะใกล้ครบกำหนดคลอด ดังนั้นการใช้เครื่องช่วยหายใจจึงกระตุ้นการเจริญของเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ และนำไปสู่อาการจอประสาทตาลอกและตาบอดได้

.

ด้วยเหตุนี้การพัฒนารกเทียมหรือครรภ์มารดาเทียม จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปอดของเด็กเป็นหลัก โดยจะให้เวลาแก่ทารกที่เกิดก่อนกำหนด ได้มีโอกาสพัฒนาปอดของตนเองยาวนานขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย จนกว่าเด็กจะพร้อมสูดลมหายใจแรกเข้าปอดได้เองอย่างแท้จริง

.

เด็กที่อยู่ในรกเทียมจะถูกห่อหุ้มด้วยสภาพแวดล้อมคล้ายในครรภ์มารดา ซึ่งจะช่วยให้ปอดไม่ได้รับความเสียหายจากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์

ปัจจุบันมีทีมนักวิจัยสามกลุ่มหลักที่กำลังพัฒนารกเทียมอยู่ โดยทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจจากกลไกของเครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ หรือ “เอ็กโม่” (ECMO) ซึ่งนำเลือดมาขจัดคาร์บอนไดออกไซด์และให้ออกซิเจน ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซที่นอกร่างกาย ก่อนจะถูกส่งกลับเข้าไปยังเนื้อเยื่อภายในส่วนต่าง ๆ เพื่อพยุงชีพผู้ป่วยที่ปอดและหัวใจไม่อาจทำงานได้ตามปกติ

.

การทำงานของเครื่องเอ็กโม่ทำให้เลือดไหลเวียนโดยไม่ต้องผ่านเข้าไปในปอดและหัวใจ ช่วยให้อวัยวะสำคัญทั้งสองได้พักเยียวยาตนเอง ซึ่งอันที่จริงแล้ว อุปกรณ์นี้สามารถใช้กับทารกที่โตจนมีอายุหลายเดือนได้ แต่ไม่ค่อยเหมาะสมกับเด็กอ่อนที่เกิดก่อนกำหนดมาก ๆ ส่งผลให้ทีมนักวิจัยทั้งหมดต้องเร่งหาทางย่อส่วนเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งดัดแปลงให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ใหม่ในการทำงานมากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การออกแบบและพัฒนาครรภ์มารดาเทียมมีความแตกต่างกันไปในทีมวิจัยแต่ละทีม โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของโรงพยาบาลเด็ก CHOP นำโดยนพ.อลัน เฟลก กุมารศัลยแพทย์มือฉมัง มีแผนจะนำทารกที่เกิดก่อนกำหนดเข้าไปอยู่ในโถแก้วใส่ของเหลว ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สังเคราะห์ขึ้นให้คล้ายน้ำคร่ำในครรภ์มารดา จากนั้นเชื่อมต่อเส้นเลือดขนาดเล็กของทารกที่สายสะดือเข้ากับเครื่องเอ็กโม่ เพื่อนำเลือดออกมาเติมออกซิเจนนอกร่างกาย ก่อนที่เลือดจะไหลเวียนกลับเข้าสู่ตัวเด็กและถูกสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ด้วยหัวใจของทารกเอง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว

.

เมื่อปี 2017 นพ.เฟลกและคณะได้ทำการทดลองครรภ์มารดาเทียม โดยใช้ตัวอ่อนของแกะ 8 ตัว ซึ่งมีอายุเทียบเท่ากับทารกในครรภ์ของมนุษย์ที่ 23-24 สัปดาห์ แล้วพบว่าตัวอ่อนแกะสามารถจะมีชีวิตอยู่ภายนอกท้องแม่ได้นานถึง 4 สัปดาห์ โดยระหว่างนั้นตัวอ่อนแกะมีพัฒนาการต่อไปตามปกติ ทั้งยังมีขนขึ้นมาด้วย

.

ส่วนทีมวิจัยของศ.นพ.จอร์จ ไมชาลิสกา ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน กำลังพัฒนารกเทียมที่ไม่ใช้ของเหลวแช่ตัวเด็ก แต่จะใช้ท่อหายใจเติมของเหลวซึ่งสังเคราะห์ขึ้นเป็นพิเศษลงไปในปอดของเด็กแทน ทั้งยังนำเลือดออกจากหัวใจตรงหลอดเลือดดำที่คอเหมือนเครื่องเอ็กโม่ แต่จะปล่อยให้ไหลเวียนกลับเข้าตัวทางเส้นเลือดที่สายสะดือ

.

“ผมต้องการระบบอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานกับทารกส่วนใหญ่ และสามารถใช้ได้ในสภาพแวดล้อมของแผนกผู้ป่วยหนักสำหรับทารกแรกเกิด (NICU) ที่มีอยู่แล้ว” ศ.นพ.ไมชาลิสกากล่าว “เทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะเข้าทดแทนการทำงานที่สลับซับซ้อนของรกไปทั้งหมด แต่มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซในกระแสเลือด, รักษาระดับการไหลเวียนและความดันโลหิต, รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจไว้เป็นสำคัญ เพื่อปกป้องอวัยวะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ให้เจริญเติบโตต่อไปตามปกติ”

.

ในการทดลองรกเทียมครั้งล่าสุด ลูกแกะที่เกิดก่อนกำหนดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอุปกรณ์นี้นาน 16 วัน ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องช่วยหายใจได้โดยปลอดภัยดี ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างนั้น ปอด สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ของมัน สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

.

ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมักต้องให้ออกซิเจน และใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราวไปตลอดชีวิต แม้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว

ด้านคณะวิจัยกลุ่มที่สาม ได้แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งร่วมกันพัฒนาครรภ์มารดาเทียม “อีฟ” (ex vivo uterine environmrnt – EVE) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการดูแลรักษาทารกป่วยและเด็กที่เกิดก่อนกำหนดมาก ๆ ยิ่งกว่าคณะวิจัยสองทีมแรก

.

ศ.นพ.แมตต์ เคมป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ตอนนี้เราพัฒนามาถึงจุดที่สามารถนำตัวอ่อนแกะหนัก 500 กรัม มาเลี้ยงไว้ในสภาพแวดล้อมเทียมที่มีความปกติทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่ โดยอยู่ได้นานราว 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ซึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ติดที่การเจริญเติบโตของพวกมันนั้นยังผิดปกติอยู่”

.

เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่ทำกับตัวอ่อนแกะที่ถูกพรากจากท้องแม่อย่างผิดธรรมชาติ ทั้งที่มันน่าจะเป็นลูกแกะซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงตามปกติ และสามารถเติบโตในครรภ์ต่อไปได้จนครบกำหนดคลอดหากไม่ถูกมนุษย์รบกวนเสียก่อน ทำให้ลูกแกะที่ใช้ในการทดลองมีเงื่อนไขทางสุขภาพร่างกายแตกต่างจากเด็กที่เกิดก่อนกำหนด ซึ่งแม่คลอดออกมาตอนที่อายุครรภ์ยังน้อยเพราะเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากแม่หรือตัวเด็กเอง จนทำให้แพทย์รักษาหรือช่วยชีวิตไว้ได้ยากกว่า

.

ศ.นพ.เคมป์ กล่าวยอมรับว่า “ในการทดลองครั้งหนึ่ง เราเลือกใช้ลูกแกะที่สุขภาพค่อนข้างจะอ่อนแอ ทำให้พบว่าลูกสัตว์กลุ่มนี้จัดการดูแลรักษาหรือช่วยชีวิตไว้ได้ยากกว่าปกติมาก พวกมันเจริญเติบโตได้น้อยกว่าเพื่อนอย่างเทียบกันไม่ติด รักษาระดับการไหลเวียนหรือความดันโลหิตได้ยาก ดังนั้นในกรณีนี้ แม้ผมจะคิดว่าเราสร้างความก้าวหน้ามาได้ดีพอสมควร แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องขบคิดแก้ปัญหากันต่อไป”

.

หลายคนอาจสงสัยว่า เราจะได้เห็นการใช้รกเทียมหรือครรภ์มารดาเทียมในโรงพยาบาลทั่วไปเมื่อใดกันแน่ คำตอบในประเด็นนี้ของทีมนักวิจัย CHOP ซึ่งอาจจะถือได้ว่ามีความก้าวหน้าไปมากที่สุดในบรรดาผู้ทำการทดลองทั้งหมด ระบุว่าปัจจุบันพวกเขาได้ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เพื่อเริ่มทำการทดลองระดับคลินิกในมนุษย์แล้ว ส่วนทีมของศ.นพ.ไมชาลิสกา หวังว่าจะไปถึงขั้นตอนดังกล่าวได้ใน 3-4 ปีต่อจากนี้ โดยพวกเขาจะต้องย่อส่วนรกเทียมให้มีขนาดเล็กลงอีก เพื่อให้เหมาะสมต่อเส้นเลือดขนาดเล็กจิ๋วของเด็กอ่อนแรกเกิด

.

ด้านศ.นพ.เคมป์นั้น มองว่ายังคงมีช่องว่างในส่วนของความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์เทียม ซึ่งนักวิจัยจำเป็นจะต้องค้นหาคำตอบและเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้ได้เสียก่อน หากต้องการจะเลื่อนขั้นขึ้นไปทดลองกับมนุษย์โดยตรง “ตามความเห็นของเรา มันชัดเจนว่าตัวอ่อนเล็ก ๆ ไม่มีความสามารถจะควบคุมการเจริญเติบโตของตัวเองได้ตามปกติ และภาวะนี้ยิ่งร้ายแรงขึ้นเมื่อพวกเขาเจ็บป่วย ดังนั้นเราจึงพยายามจะไขความลับเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของรก ในการควบคุมทิศทางการเจริญเติบโตนี้ นั่นคือสิ่งที่เราให้ความสนใจ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่มาก”

.

นอกจากอุปสรรคทางเทคนิคแล้ว การทดลองเพื่อพัฒนารกเทียมและครรภ์มารดาเทียมยังมีปัญหาทางจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก โดยในบทความที่พญ.สเตฟานี คูโครา เขียนขึ้นล่าสุด เทคโนโลยีล้ำสมัยหลากหลายแบบ สามารถจะสร้างปัญหาทางจริยธรรมให้เกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

.

ตัวอย่างเช่นครรภ์มารดาเทียมของทีมนักวิจัย CHOP และ EVE ต้องติดตั้งสายแคนนูลา (cannula) หรือท่อออกซิเจนที่ยืดหยุ่นได้เข้ากับเส้นเลือดที่สายสะดือของทารก ทำให้แม่ไม่อาจให้กำเนิดลูกด้วยวิธีคลอดธรรมชาติได้ แต่ต้องใช้การผ่าคลอดทางหน้าท้องหรือการผ่าตัดซีซาเรียน (Caesarean section) แทน เพราะเส้นเลือดที่สายสะดือเด็กจะฝ่อปิดตัวลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด จนไม่อาจติดตั้งอุปกรณ์ได้ทันเวลาหากใช้วิธีคลอดธรรมชาติ

.

“การผ่าคลอดก่อนกำหนดนั้น ไม่เหมือนกับการผ่าคลอดตามปกติที่ทำกับแม่ซึ่งคลอดเมื่อครบกำหนดแล้ว จะมีการลงมีดผ่านชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต เช่นอาจต้องคลอดก่อนกำหนดอีกครั้ง หรือไม่อาจจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้อีกเลย” พญ.คูโครากล่าว

.

เธอยังมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงข้างต้น กับพ่อแม่ของทารกที่จะเกิดมาก่อนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แพทย์ต้องการทดลองใช้รกหรือครรภ์มารดาเทียมกับลูกของพวกเขา “ลองนึกถึงพ่อแม่ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันน่าเศร้าอยู่ก่อนแล้ว พวกเขากำลังวิตกกังวลเรื่องที่ลูกต้องเกิดมาเมื่อมีอายุเพียง 22 สัปดาห์ พวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างและทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อลูก แม้มันจะยังไม่ผ่านการทดสอบมาก่อนเลยก็ตาม”

.

ศ.นพ.ไมชาลิสกา ยังกล่าวเสริมว่า การเร่งรีบผ่าคลอดและถ่ายโอนทารกไปยังระบบครรภ์มารดาเทียม EXTEND ทำให้แพทย์ไม่มีเวลาประเมินว่า กรณีนั้นสามารถจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติแทนได้หรือไม่ “คุณมีข้อมูลอยู่ในมือไม่มาก นอกจากเรื่องอายุครรภ์แล้ว ไม่มีข้อมูลอื่นใดมาช่วยในการตัดสินใจเลยว่า แพทย์ควรจะเริ่มใช้ระบบ EXTEND ดีหรือไม่ เนื่องจากเด็กยังไม่เกิด คุณจึงยังไม่รู้ว่าตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง”

.

ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมที่ว่า เด็กอาจจะมีผลการรักษาที่ดีกว่า หากแม่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติและเด็กเข้ารับการดูแลพยาบาลแบบดั้งเดิม แทนที่จะเร่งรีบไปใช้ระบบพยุงชีพแบบใหม่ที่ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งศ.นพ.ไมชาลิสกาเน้นย้ำว่า ระบบ EXTEND นั้นเหมาะสมและเป็นประโยชน์ที่สุดกับเด็กที่เกิดตอนอายุครรภ์น้อยเพียง 22-23 สัปดาห์ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตและพิการสูง

.

ในทางตรงกันข้าม รกเทียมซึ่งเป็นผลงานจากทีมวิจัยของศ.นพ.ไมชาลิสกา เชื่อมต่อกับทารกโดยใช้หลอดเลือดดำที่คอแทนที่จะเป็นสายสะดือ จึงทำให้แม่สามารถให้กำเนิดลูกทางช่องคลอดตามปกติได้ และไม่ต้องเร่งรีบเคลื่อนย้ายทารกจากครรภ์มารดาแท้มายังของเทียม จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้แพทย์มีเวลารวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และประเมินอาการของเด็กได้ว่าจำเป็นต้องใช้รกเทียมทันทีหรือไม่ และหากใช้วิธีพยุงชีพแบบดั้งเดิมแล้วไม่ดีขึ้น ก็สามารถจะเปลี่ยนมาใช้รกเทียมในภายหลังได้โดยยังไม่สายเกินไป

.

ศ.นพ.ไมชาลิสกา กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้เข้าร่วมการทดลองรกเทียมหรือครรภ์มารดาเทียมในระยะแรก จะเป็นเด็กที่เกิดก่อนกำหนดเมื่ออายุครรภ์ยังน้อยกว่า 24 สัปดาห์ ซึ่งเด็กเหล่านี้มีโอกาสรอดต่ำหากใช้วิธีพยุงชีพแบบดั้งเดิม

.

“ผมคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะปฏิวัติวงการกุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทั้งรกเทียมและระบบ EXTEND จะช่วยเหลือการรักษาในระดับคลินิกให้ทำได้ดียิ่งขึ้น”

.

“แต่เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรกของการทดสอบความปลอดภัยด้วย ผมคิดว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะแรก ควรจะใช้กับเด็กที่มีโอกาสรอดชีวิตต่ำเท่านั้น ในภายหลังจึงค่อย ๆ ขยายขอบเขตการใช้ไปยังเด็กเกิดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า หลังเราสามารถประเมินประสิทธิภาพและความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่ได้แน่นอนแล้ว”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c51yr67n07eo