แฟ้ม - นพ.โรนีล มัลคานี ชี้ไปที่บันทึกคลื่นเสียงสีชมพู ที่ช่วยให้คลื่นสมองช้าลงระหว่างการนอนหลับลึก ที่ Center for Circadian & Sleep Medicine แห่ง Northwestern Medicine ในนครชิคาโก เมื่อ 16 พ.ค. 2024 (AP Photo/Laura Bargfeld)

เมื่อพูดถึงเสียงเพื่อการนอนหลับ หลายคนอาจนึกถึงเสียงสีขาว หรือ White Noise กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ล่าสุดการวิจัยค้นพบว่าเสียงหลากสีสันอาจส่งผลดีต่อการพักผ่อนได้เช่นเดียวกัน

.

“เสียงสีขาว” หรือ White Noise คือชื่อเรียกประเภทของเสียงที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกสงบ เป็นเสียงที่เกิดขึ้นด้วยความถี่สม่ำเสมอ เช่น เสียงจากโทรทัศน์หรือวิทยุเมื่อเกิดไฟฟ้าสถิตย์ วิศวกรด้านเสียงให้คำจำกัดความว่า เสียงสีขาวมีระดับเสียงเท่ากันในทุกความถี่ที่หูของมนุษย์สามารถได้ยิน โดยอ้างอิงการตั้งชื่อมาจาก “แสงสีขาว” ที่มีความยาวคลื่นสีจากทุกสเปกตรัม (spectrum) ที่สายตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้ ที่ผ่านมาเสียงสีขาวถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการหูอื้อ รวมไปถึงโรคเสียงดังในช่องหู

.

นอกจากเสียงสีขาว ปัจจุบันยังมีเสียงสีสันต่าง ๆ ทั้งเสียงสีเขียว เสียงสีน้ำตาล และเสียงสีชมพู ซึ่งเชื่อว่ามีผลเชิงทฤษฎีต่อการนอนหลับ ทำให้เกิดสมาธิ อันจะส่งผลให้เกิดความผ่อนคลาย แม้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์จะทำในกลุ่มการศึกษาขนาดเล็ก แต่คนทั่วไปกลับพร้อมเปิดใจรับฟังเสียงเหล่านี้ ผ่านช่องทาง YouTube และแอพลิเคชันที่มีค่าใช้จ่าย

.

สำหรับบางคนรู้สึกว่าเสียงความถี่สูง ที่พบในเสียงสีขาวก่อให้เกิดการรบกวน จึงมีการลดระดับเสียงในย่านความถี่ดังกล่าว และเรียกเสียงทุ้มความถี่ต่ำกลุ่มนี้ว่า “เสียงสีชมพู” (Pink noise) เช่น เสียงฝนตกท่ามกลางธรรมชาติ หรือเสียงของมหาสมุทร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม “เสียงสีน้ำตาล” (Brown noise) ที่เกิดจากความถี่ที่ต่ำลง โทนเสียงลึก เพื่อช่วยในการผ่อนคลาย

.

อย่างไรก็ดี พบว่านอกจากกลุ่มเสียงสีขาว เสียงสีชมพู และเสียงสีน้ำตาลที่มีคำจำกัดความตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงแล้ว เสียงในสีสันอื่น ๆ ถูกนิยามขึ้นตามความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีกฎตายตัว

.

จากการทบทวนการศึกษาวิจัยโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder -ADHD) ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเสียงสีขาวและเสียงสีชมพู อาจมีประโยชน์เล็กน้อยสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น

.

โจเอล นิก นักวิจัยโรคสมาธิสั้นและเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัย จากมหาวิทยาลัย Oregon Health & Science University กล่าวว่าตามทฤษฎีแล้ว กลุ่มเสียงดังกล่าวจะช่วยทำให้สมองตื่นตัว เขาอธิบายเพิ่มว่า “เสียงรบกวนเหล่านี้จะไปช่วยกระตุ้นสมอง โดยปราศจากการให้ข้อมูล จึงไม่เป็นการรบกวนสมาธิ”

.

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Northwestern University กำลังศึกษาว่า จังหวะสั้น ๆ ของเสียงสีชมพูจะสามารถทำให้คลื่นสมองทำงานช้าลง เพื่อช่วยการนอนหลับลึกได้อย่างไร ในการศึกษาขนาดเล็กพบว่า คลื่นเสียงสีชมพูเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านความจำและการการผ่อนคลาย

.

ดร.โรนิล มัลคานี่ รองศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา จาก Feinberg School of Medicine มหาวิทยาลัย Northwestern University ชี้ว่าความถี่ของเสียงสีชมพู "คล้ายกับการกระจายตัวของความถี่คลื่นสมอง ที่เราพบได้จากการนอนหลับลึก (slow-wave sleep) ซึ่งลักษณะความถี่ จะเป็นคลื่นที่ช้าและมีขนาดใหญ่”

.

การวิจัยข้างต้น อาจนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้เสียงสีชมพูเพื่อปรับปรุงการนอนหลับ รวมไปถึงพัฒนาความจำ แต่ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น

.

แม้การศึกษาจะชี้ถึงประโยชน์ของ “เสียงหลากสี” ที่ช่วยสร้างสมาธิและทำให้รู้สึกสงบ แต่การใช้งานเสียงเหล่านี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะ “ระดับความดังของเสียง” เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า การพักหูจากเสียงรบกวนต่าง ๆ ยังคงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/have-you-tried-pink-noise-for-sleep-here-s-what-to-know/7627678.html