แฟ้มภาพ: เมล็ดกาแฟเตรียมบรรจุเพื่อการส่งออกในเมดาน อินโดนีเซีย 25 เม.ย. 2013 (REUTERS/YT Haryono/File Photo)

หลายคนอาจกินกาแฟได้อย่างสบายใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติได้ด้วยเครื่องดื่มใกล้ตัว โดยออสเตรเลียนำกาแฟมาใช้เป็นส่วนผสมของคอนกรีตเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

.

การจิบกาแฟยามเช้า อาจช่วยโลกได้มากกว่าที่เราคิด ในประเทศออสเตรเลียนำ “กากกาแฟ” ไปผสมในคอนกรีต (Concrete) ที่มีส่วนของปูนซีเมนต์ (Cement) น้ำ และวัสดุผสม อย่างกรวดหินดินทราย ซึ่งคอนกรีตถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในโครงสร้างพื้นฐาน และมีส่วนในการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ทั่วโลก ในสัดส่วนราว 8%

.

ราจีฟ รอยชานด์ หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) อธิบายถึงการนำกากกาแฟไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับวัสดุก่อสร้าง เริ่มต้นจะต้องนำวัสดุไปเผาที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียสในห้องปลอดออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนกากกาแฟให้กลายเป็น “ถ่านชีวภาพ” (Biochar)

.

รอยชานด์ ชี้ว่าสารที่ได้สามารถนำไปผสมคอนกรีต ในสัดส่วนมากถึง 15% ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงของวัสดุเพิ่มขึ้น 30% หรืออาจกล่าวได้ว่า เราลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ได้สูงถึง 10% กระบวนการนี้ถือว่าช่วยลดก๊าซคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน และยังไปช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับวัสดุก่อสร้าง

.

ในแต่ละปี กรวดทรายปริมาณราว 50,000 ล้านตันถูกขุดจากใต้ดิน เพื่อนำไปใช้ผสมในคอนกรีต องค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่ากระบวนการดังกล่าวมักจะทำลายสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่วัสดุเหล่านี้จะขาดแคลนมากยิ่งขึ้น

.

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ ที่ต้องนำหินปูนและดินเหนียวมาผสมกันที่ความร้อน 1,500 องศาเซลเซียส เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การใช้งานคอนกรีตเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.

รอยชานด์ หัวหน้านักวิจัย เผยว่า ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัย RMIT ทำงานร่วมกับบริษัท บิล์ดกรูป (BildGroup) เพื่อก่อตั้งบริษัทผลิตถ่านชีวภาพ รวมถึงได้เจราจากับบริษัท สตาร์บัคส์ (Starbucks) ในการนำกากกาแฟมาใช้งาน

.

อีกทั้งบริษัท อารัป (Arup) ยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้าง ให้การสนับสนุนการวิจัยนี้

.

กากกาแฟถูกผลิตขึ้นปริมาณนับพันล้านตันจากทั่วโลก ที่ผ่านมา “วิธีฝังกลบ” คือการกำจัดกากกาแฟ ซึ่งในกระบวนย่อยสลายจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา

.

นักวิจัยจาก RMIT ระบุว่า เฉพาะในออสเตรเลีย ผลิตกากกาแฟได้ประมาณ 75,000 ตันต่อปี หากนำไปผลิตถ่านชีวภาพ จะสามารถนำไปใช้ทดแทนทรายในคอนกรีต ได้ราว 675,000 ตัน และยังเป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นมากกว่า

.

ตามข้อมูลของรัฐบาลออสเตรเลีย ชี้ว่าขยะอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประมาณ 60 ถึง 70% ของขยะจากอาหาร ที่ถือเป็นขยะอินทรีย์ สามารถกำจัดได้ ด้วยวิธีเปลี่ยนเป็นถ่านชีวภาพแทนการฝังกลบ

.

นอกจากมหาวิทยาลัย RMIT ที่ริเริ่มการนำกากกาแฟมาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง ขณะนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างมุ่งศึกษาถ่านชีวภาพและวัสดุชีวภาพอื่น ๆ เพื่อนำมาผสมในคอนกรีต โดยเชื่อว่าวัสดุอินทรีย์ที่ต่างกัน จะนำไปสู่ถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพไม่เหมือนกัน

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/morning-coffees-make-greener-concrete-in-australia-/7637151.html