คาเฟอีนเป็นสารออกฤทธิ์ทางต่อจิตประสาทที่มีการบริโภคอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก แม้ว่าคุณจะไม่ได้ดื่มกาแฟหรือชา คุณก็อาจจะยังได้รับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะคาเฟอีนพบได้ในอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภท ตั้งแต่โซดา ยาแก้หวัด ไปจนถึงกาแฟไร้คาเฟอีน และช็อกโกแลต
.
เมื่อเราบริโภคคาเฟอีน มันจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว และออกฤทธิ์เต็มที่ภายในเวลา 2 ชั่วโมง (แม้ว่าจะใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมงกว่าคาเฟอีนจะหมดไปจากร่างกาย) มันสามารถละลายได้ในน้ำและไขมัน ดังนั้น คาเฟอีนจึงแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนของร่างกาย ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าทำไมคาเฟอีนสามารถส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายของเรา
.
คำแนะนำสำหรับการรับคาเฟอีนกลุ่มผู้ใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือกาแฟประมาณ 4 ถ้วย) หากดื่มเข้าไปมากกว่านี้อาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อสั่น คลื่นไส้ ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว หรือกระทั่งเสียชีวิต ในกรณีที่รุนแรง
.
แต่แม้ว่าผู้คนจะดื่มกาแฟหรือชาเพียงไม่กี่แก้วต่อวันก็อาจจะได้รับผลข้างเคียงได้ เช่น อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว นอนหลับยาก และกระวนกระวาย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่มีคนจำนวนมากขึ้นเลิกดื่มกาแฟ
.
การทำงานของสมอง
การหยุดหรือถอนคาเฟอีนอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัว เมื่อยล้า และเหน็ดเหนื่อย นี่เป็นเพราะว่าร่างกายได้พัฒนาความทนทานต่อสารของคาเฟอีน
.
คาเฟอีนจะเข้าไปจับกับตัวรับในสมองที่ชื่อว่า สารอะดีโนซีน (adenosine) คาเฟอีนที่จับตัวกับสารนี้ทำให้ร่างกายชะลอความรู้สึกอ่อนล้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เซลล์สมองจะผลิตตัวรับสารอะดีโนซีนมากขึ้น เพื่อให้การจับตัวของอะดีโนซีนเกิดขึ้นเป็นภาวะปกติ
.
ดังนั้น การที่คุณหยุดดื่มกาแฟ ตัวรับสารอะดีโนซีนที่มีมากเกินไปจึงทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้ตามปกติ และทำให้ร่างกายรู้สึกว่าเหนื่อยล้ามากกว่าที่เคยเป็นมา
.
ส่วนอาการปวดหัว กลไกทำงานโดยที่ภายในอวัยวะศีรษะและคอ คาเฟอีนจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และลดการไหลเวียนของเลือดที่จะเข้าสู่สมอง
.
หลังจากหยุดรับคาเฟอีนเข้าไป 24 ชั่วโมง หลอดเลือดจะกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังสมองเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว โดยความรู้สึกไม่สบายแบบนี้ อาจคงอยู่โดยเฉลี่ยได้นานถึง 9 วัน
.
เนื่องจากคาเฟอีนจับกับตัวรับอะดีโนซีน ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมความเจ็บปวด การหยุดบริโภคคาเฟอีนอาจเพิ่มความรู้สึกและความไวต่อความเจ็บปวดชั่วคราว เนื่องจากมีตัวรับมากขึ้น
.
คาเฟอีนมีผลต่อการนอนหลับเฉพาะต่อเมื่อดื่มในช่วงบ่ายแก่ ๆ และช่วงเย็น นี่เป็นเพราะว่าคาเฟอีนจะชะลอการปล่อยสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกง่วงไป 40 นาที คาเฟอีนยังลดระยะเวลาการนอนหลับโดยรวม และช่วงเวลาที่ร่างกายนอนหลับลึก
.
วงจรเช่นนี้อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นในวันถัดไป และกระตุ้นให้คุณดื่มคาเฟอีนเพื่อปลุกตัวเอง แต่ผลลัพธ์คือจะทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับในภายหลัง เมื่อหยุดดื่มคาเฟอีนการนอนหลับก็จะดีขึ้น โดยข้อมูลจากบางแหล่งชี้ด้วยว่า การนอนหลับจะดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง
.
อย่างไรก็ตาม คาเฟอีนยังมีความเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลและภาวะตื่นตระหนกหรือแพนิก ซึ่งไม่ได้เกิดแต่เพียงในคนที่มีแนวโน้มต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วเท่านั้น การลดหรือหยุดบริโภคคาเฟอีนอาจช่วยปรับสภาพอารมณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจเป็นเพราะมีการนอนหลับที่ดีขึ้น เนื่องจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ มีส่วนทำให้ความวิตกกังวลและความผิดปกติทางอารมณ์ในรูปแบบอื่น ๆ แย่ลง
.
สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
การหยุดคาเฟอีนอาจช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกและอาหารไม่ย่อย
.
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า คาเฟอีนเข้าไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและทำให้หูรูดของหลอดอาหารอ่อนแอ ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการไหลย้อนของอาหารในกระเพราะกลับไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหาร
.
การเลิกดื่มคาเฟอีนยังช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ แม้ว่าการศึกษาบางชิ้นจะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม
.
สาเหตุที่การหยุดคาเฟอีนมีผลต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากในคนที่บริโภคคาเฟอีนเป็นประจำเป็นเวลาหลายปี ร่างกายจะปรับตัวเข้ากับปริมาณของคาเฟอีนที่ได้รับ จากนั้นร่างกายจะใช้คาเฟอีนในการกระตุ้นระบบประสาท, ลำไส้ และหัวใจ จนเป็นภาวะปกติใหม่ที่เกิดกับระบบของร่างกายดังกล่าว
.
นอกจากนี้ มีแนวโน้มด้วยว่าความทนทานต่อคาเฟอีนและระบบเผาผลาญมีปัจจยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจหมายความว่า บางคนอาจได้รับผลกระทบจากคาเฟอีนมากกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้
.
ยิ้มที่สว่างสดใสขึ้น
การหยุดบริโภคคาเฟอีนอาจช่วยให้ฟันของคุณขาวขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลจากตัวคาเฟอีนโดยตรง แต่สีที่เข้มขึ้นของฟันเกิดจากสารในชาและกาแฟที่ชื่อว่า แทนนิน (Tannin) ที่ทำให้เกิดคราบบนตัวฟัน
.
น้ำตาลในเครื่องดื่มชูกำลังอาจยังเป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ หลักฐานบางชิ้นระบุว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะไปลดปริมาณของน้ำลาย ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับฟัน
.
ผลจากการหยุดบริโภคคาเฟอีนอาจทำให้ลิ้นรับรสของคุณมีความไวต่อรสชาติของอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานมากขึ้น เนื่องจากตัวคาเฟอีนไปรบกวนการรับรสสารที่มีรสหวานนั่นเอง
.
ลดความถี่ในการเข้าห้องน้ำ
คาเฟอีนยังมีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ เพราะคาเฟอีนจะทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดตัวและกระตุ้นความรู้สึกอยากขับถ่าย
.
นอกจากนี้ คาเฟอีนยังสามารถเปลี่ยนความข้นของอุจจาระ โดยเฉพาะหากดื่มคาเฟอีนมากเกินไป เนื่องจากมันมีผลต่อการดูดซึมน้ำ
.
คาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะอย่างอ่อน เพราะมันเข้าไปกระตุ้นให้มีการผลิตปัสสาวะเพิ่มขึ้น กลไกนี้เกิดขึ้นจากการที่คาเฟอีนเข้าไปจับตัวกับตัวรับอะดีโนซีนในไต ซึ่งผลต่อระบบการแลกเปลี่ยนโซเดียมและการเก็บน้ำปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าคาเฟอีนทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้น การหยุดคาเฟอีนจึงสามารถลดการเดินทางไปห้องน้ำของคุณได้
.
บริโภคแต่พอประมาณ
เช่นเดียวกับอาหารและเครื่องดื่มหลาย ๆ อย่าง การบริโภคคาเฟอีนควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะ
.
แต่หากคุณจริงจังกับการตัดคาเฟอีนออกจากอาหารที่บริโภค วิธีการที่ดีที่สุดคือ เริ่มไปทีละขั้นตอน การหยุดดื่มคาเฟอีนอย่างกระทันหันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัวและความเหนื่อยล้า ซึ่งอาจคงอยู่เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
.
ความรุนแรงและระยะเวลาในการเกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคในแต่ละวัน และระยะเวลาที่ติดคาเฟอีน
.
*อดัม เทเลอร์ เป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์กายวิภาคคลินิกศึกษา มหาวิทยาลัยแลงแคสเตอร์ ประเทศอังกฤษ บทความวิชาการของนักวิชาการผู้นี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Conversation
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cgm7dzgyv9go