(จากซ้าย) รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย , บุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการโครงการ Plastic Smart Cities WWF ประเทศไทย , มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai และจุฑารัตน์ มณิปันตี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ foodpanda ประเทศไทย
WWF ประเทศไทย ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ หวังขับเคลื่อนการปรับรูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการลดพลาสติกขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลอย่าง Plastic ACTion (PACT) พร้อมประกาศความร่วมมือครั้งแรกกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ LINE MAN Wongnai และ foodpanda มุ่งส่งเสริมการลดใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี ภายใต้แนวคิด ‘ลด-เพิ่ม-แลกเปลี่ยน’ เดินหน้าขยายผลโครงการฯ จากธุรกิจท้องถิ่นใน 4 เมืองทางภาคใต้ สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ตั้งเป้าต่อยอดความร่วมมือกับภาคธุรกิจอื่นๆ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายระยะยาวระดับโลกขององค์การฯ ในการลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030
.
รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) กล่าวว่า “ขยะพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคน ทุกปีมีการผลิตพลาสติกถึง 430 ล้านตันทั่วโลก ในประเทศไทย มีขยะพลาสติกถึงร้อยละ 75 หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติและสามารถตกค้างในมหาสมุทรได้หลายร้อยปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ การแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกเป็นภารกิจที่ WWF ให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและบริโภค รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติก”
.
สำหรับโครงการ Plastic ACTion (PACT) ริเริ่มขึ้นโดย WWF Singapore ภายใต้โครงการ “No Plastic in Nature Initiative” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ นวัตกรรม และแนวปฏิบัติต่างๆ ในการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น โดยในประเทศสิงคโปร์ WWF จับมือกับองค์กรธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2019 ริเริ่มฟีเจอร์ ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติ’ บนแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์
.
ที่ผ่านมา WWF ประเทศไทย ร่วมกับภาคีในพื้นที่ นำร่องโครงการ Plastic ACTion ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 38 รายในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ ใน 4 เมือง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย สงขลา และหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ Plastic Smart Cities โดยมุ่งเน้นให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือและทักษะในการวัดและประเมินผลข้อมูล รวมทั้ง สนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเครือข่ายให้แก่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่ เพื่อดำเนินมาตรการ PACT อย่างเป็นรูปธรรม
.
“ภาคธุรกิจของไทยมีความมุ่งมั่นและความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย WWF ประเทศไทย เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจในกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ ฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งสามารถเข้าถึงและสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากทั่วประเทศ เราจึงยินดีอย่างยิ่งที่ LINE MAN Wongnai และ foodpanda เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plastic ACTion โดยเราจะทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลของกิจกรรมด้านการลดใช้พลาสติก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป” นายรัฐพล กล่าวเสริม
.
ความร่วมมือครั้งนี้ LINE MAN Wongnai และ foodpanda ร่วมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ
1) ลด: สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระบบการจัดส่งอาหาร
2) เพิ่ม: ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
3) แลกเปลี่ยน:
.
แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามนโยบาย กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ผ่านมา ทั้ง LINE MAN Wongnai และ foodpanda ได้เปิดใช้บริการฟีเจอร์ “ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก” บนแอปพลิเคชัน โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในระบบไปแล้วกว่า 2,000 ตัน รวมถึงสนับสนุนให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจับมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย โดยตั้งเป้าว่าความร่วมมือภายใต้โครงการ Plastic ACTion จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายผลการแก้ปัญหาพลาสติกในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้อย่างยั่งยืน
.
WWF ร่วมกับ LINE MAN Wongnai และ foodpanda ร่วมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่
ด้าน มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai
กล่าวว่า “เห็นเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคจากการกดไม่รับช้อนส้อมพลาสติก 60% - 80% ของลูกค้าที่บริการ นอกจากนี้ ในช่วง 2 เดือน ยังลดใช้เครื่องปรุงได้ถึง 20 ล้านซอง และประโยชน์จากการที่ได้ลงพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ร่วมกับ WWF ทำให้ได้ feedback จากร้านค้าต่างๆ ทำให้รู้ปัญหาและได้เดียหลายอย่าง สามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น ร้านขนมจีนไก่ทอดคนคอน เคยคิดว่าต้องให้บริการผักหลากหลายมาก แต่เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกกลับตรงข้าม เพราะลุกค้าไม่ได้ต้องการเช่นนั้น ช่วยให้ร้านค้าลดต้นทุนและยังช่วยลดขยะอาหารได้ด้วย”
.
ส่วน จุฑารัตน์ มณิปันตี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ foodpanda ประเทศไทย กล่าวว่า “หลังจากใช้ feature ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก พบว่าลดขยะพลาสติกได้ถึง 2,500 ตัน และการร่วมกับ grace นำบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไปให้ร้านค้าใช้ช่วยลดขยะพลาสติกได้ถึง 1.5 ล้านชิ้น นอกจากนี้ ประโยชน์ที่ได้จากการลงพื้นที่กับ WWF ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ และนำไปย่อยให้เข้าใจง่าย เพื่ออนำไปสื่อสารกับสาธารณชน ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น และมองว่าการที่ธุรกิจกลุ่มเดียวกันทำเรื่องเดียวกันคือ collaboration ทางธุรกิจ ช่วยกันขับเคลื่อนภาพใหญ่และทำให้เสียงดังขึ้น เพื่อจะเกิดผลที่ดีมากขึ้น”
.
บุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการโครงการ Plastic Smart Cities WWF ประเทศไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ในประเทศไทย โครงการ Plastic ACTion มีการดำเนินกิจกรรมคู่ขนานไปกับโครงการ Plastic Smart Cities ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพใน 4 เมืองนำร่อง ผ่านการร่วมมือกับเทศบาลนคร โรงเรียน และชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรม เช่น โรงเรียนปลอดพลาสติก ธนาคารขยะชุมชน ศูนย์คัดแยกขยะ และจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
.
โครงการ Plastic ACTion ของ WWF ทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ No Plastic in Nature โดยมีเป้าหมายระดับโลกในการลดขยะพลาสติกลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 มุ่งเน้นการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในธรรมชาติ
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000085500