วิดีโอน้องหมา ภาพของเพื่อนที่อยู่บนชายหาด มีม ข่าวสารจากอีกซีกโลก เนื้อหาต่าง ๆ หลากหลายกระจัดกระจาย ถ้าคุณชอบคุณก็ดูมัน แต่ถ้าไม่ชอบ คุณก็แค่ข้ามมันไป

.

นิสัยการไถหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน บางครั้งเราก็ไถหน้าจอเพียงไม่กี่วินาทีขณะขึ้นลิฟต์ และบางครั้งก็นานเป็นชั่วโมงก่อนที่จะเข้านอน

.

แต่พฤติกรรมแบบนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับระบบประสาทของเรา เมื่อเราเลื่อนไถหน้าจอบนโทรศัพท์มือถือ ทำไมมันจึงกลายเป็นพฤติกรรมเสพติดที่เลิกไม่ได้ และเราจะป้องกันเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาได้อย่างไร

.

ไอลิช ดูค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ เบกเกตต์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจคือ แรงกระตุ้นที่ทำให้คุณหยิบโทรศัพท์และแตะหน้าจอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเลื่อนดูเนื้อหาในโทรศัพท์นั้น เป็นไปโดยอัตโนมัติ

.

เราไม่ได้รู้ตัวถึงการทำสิ่งนี้ เพราะเราได้สร้างอุปนิสัยนี้ขึ้นมาเมื่อทำมันบ่อย ๆ ไม่ต่างกับการปิดประตูเมื่อออกจากบ้าน

.

การเลื่อนดูหน้าจอมือถือจะไปกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมอง

“ในงานวิจัยที่เราศึกษาเมื่อ 2-3 ปีก่อน เราพบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยคิดว่าพวกเขาเช็กโทรศัพท์ทุก ๆ 18 นาที แต่เมื่อเราบันทึกกการใช้หน้าจอ เราพบว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาเช็กโทรศัพท์มือถือถี่กว่านั้นมาก”

.

นับตั้งแต่วินาทีที่เราเปิดหน้าจอมือถือขึ้นมา กลไกต่าง ๆ ในสมองของเรา และแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนโทรศัพท์มือถือที่ถูกออกแบบมาอย่างซับซ้อน จะทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบ

.

ด้านศาสตราจารย์อาเรียน หลิง จากภาควิชาจิตเวชแห่งสถาบันสุขภาพแลงโกน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า นิสัยการไถหน้าจอมือถือสามารถอธิบายได้ด้วยพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกทำให้รุนแรงขึ้นโดยปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

.

ศ.หลิง อธิบายว่า มนุษย์ถูกโปรแกรมมาให้อยากรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และนั่นคือสาเหตุที่เราอ่านข่าวหรือมักจะหยุดดูเมื่อมีอุบัติเหตุบนท้องถนน พฤติกรรมเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางวิวัฒนาการที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด

.

และโทรศัพท์มือถือของเราก็ถูกออกแบบมาเพื่อหล่อเลี้ยงเราด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่ดึงความสนใจเรา ทั้งหมดนั้นคือการจับคู่กันที่สมบูรณ์แบบ

.

สภาวะลื่นไหล (flow) ของจิตใจจะเกิดขึ้นเมื่อเราเลื่อนดูหน้าจอ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงลืมว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่

ค้นหาความพึงใจอย่างต่อเนื่อง
โดยธรรมชาติแล้ว สมองของเรามองหาการตอบแทนด้วยรางวัล เรามีศูนย์กลางของประสาทบางจุดที่ตอบสนองต่อความสุข เช่น ความสุขจากเซ็กส์ ยาเสพติด การชนะพนันในกาสิโน และคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

.

“สมองมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นสารแห่งความสุขตัวถัดไป หรืออะไรก็ตามที่เราสามารถจะรู้สึกสนุกสนานไปกับมันได้” ศ.ดูค กล่าว

.

สิ่งนี้เรียกว่าระบบหรือวงจรการให้รางวัลของสมอง ซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับที่ทำให้คน ๆ หนึ่ง กลายเป็นผู้เสพติดสารชนิดใดชนิดหนึ่ง อย่างเช่น การติดแอลกอฮอล์

.

“สำหรับพวกเราหลายคน ความแปลกใหม่นี้มักมาในรูปแบบของโทรศัพท์”

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่มักจะมีอะไรใหม่ ๆ และสิ่งที่ดูน่าสนใจอยู่ในนั้นเสมอ ทั้งรูปภาพ วิดีโอ ข่าวสาร และข้อความ

.

แต่ก็มีสมองอีกส่วนหนึ่งที่ต่อสู้กับแรงกระตุ้นที่จะมองหาความสุขและการได้รางวัลโดยตรง นั่นคือ สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex)

.

สมองส่วนนี้รับผิดชอบในการทำให้คุณตัดสินใจแบบหุนหันน้อยลงและสมดุลมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนที่จะทำให้คุณหยุดเลื่อนหน้าจอ ลุกขึ้นจากโซฟา และตัดสินใจทำความสะอาดบ้านหรือออกกำลังกาย

.

แต่กลไกการทำงานของสมองทั้งสองส่วนนี้ ก็ไม่ได้มีความสมดุลกันเสมอไป

.

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนคือ “สมองส่วนที่ใช้เหตุผลซึ่งควบคุมแรงกระตุ้น ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างที่ควรจะเป็น สมองจึงท่วมท้นไปด้วยการใฝ่หาแต่ความสุข" ศ.ดูค กล่าว

.

และในกรณีของคนที่อายุน้อย สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งรุนแรงกว่า

.

“สิ่งที่เราเห็นในวัยรุ่นก็คือ วงจรการให้รางวัลอยู่ในภาวะการทำงานระดับสูง และพร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา แต่สมองส่วนหน้าจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ก็ในช่วงอายุ 23-24 ปีแล้ว ดังนั้น มันจึงยังไม่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นต่าง ๆ ได้ อย่างเช่นเรื่องการใช้โทรศัพท์” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อธิบาย

.

บิดเบือนเวลา
ศ.ดูค บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์คือ เราได้เข้าสู่สภาวะของการลื่นไหล (state of flow)

.

แนวคิดเกี่ยวกับสภาวะลื่นไหลในทางจิตวิทยา หมายถึงสภาวะของจิตใจที่ความยากของงานที่บุคคลหนึ่งกำลังทำอยู่สามารถปรับตัวได้ดีมากกับระดับความสนใจและทักษะที่บุคคลคนนั้นมีในขณะนั้น

.

แอปพลิเคชันอย่างติ๊กตอก (TikTok) ซึ่งอัลกอริทึมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนำเสนอเนื้อหาใหม่ ๆ ที่จัดมาให้คุณโดยเฉพาะ คือการป้อนสภาวะลื่นไหลโดยตรงให้กับผู้ใช้งาน

.

“มันดูดซับความสนใจทั้งหมดของคุณ และคุณจะเข้าสู่ช่วงของมิติเวลาที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ว่าผ่านไปสองชั่วโมงแล้ว และนั่งอยู่ที่นั่นพร้อมกับมือที่ชา พร้อมกับเสียเวลาทั้งหมดไปกับการดูวิดีโอน้องหมา”

.

ด้าน ศ.อาเรียน หลิง อธิบายโดยเปรียบเทียบวิธีที่สมองเริ่มมีนิสัยติดการเลื่อนดูหน้าจอมือถือมากเกินไปว่า

.

“หากคุณนึกถึงทางที่เคยเดินมาแล้วหลายครั้ง ทางเดินนั้นจะชัดเจนขึ้นและเราก็เดินบนเส้นทางนั้นต่อไป เพราะมันง่ายกว่า”

.

“หากคุณไถจอไปเรื่อย ๆ แบบต่อเนื่อง มันจะกลายเป็นประสบการณ์แบบตั้งค่าเริ่มต้นไว้ และเมื่อเวลาผ่านไป การมุ่งความสนใจและเวลาไปที่สิ่งอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง” ศาสตราจารย์หญิงรายนี้ กล่าวเสริม

.

หากคุณรู้สึกว่าได้พยายามอย่างมากแล้วจะที่คุมนิสัยนี้และล้มเหลว การขอความช่วยเหลืออาจเป็นความคิดที่ดี

การติดโทรศัพท์มือถือไม่ได้รวมอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยทางจิตเวช ดังนั้นจึงไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจำแนกการใช้งานมือถือแบบที่ยังดีต่อสุขภาพออกจากการใช้งานที่มีปัญหา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็คือ ภาวะการติดหน้าจอโทรศัพท์

.

“เราอ้างอิงจากเกณฑ์การวินิจฉัยการเสพติดแบบคลาสสิค เช่น การมีแรงกระตุ้นที่ควบคุมไม่ได้ หรือพฤติกรรมที่มีผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตด้านอื่นหรือไม่ เช่น การล้มเหลวในการทำสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหรือเผชิญกับสภาวะถอนตัวออกจากสังคม” ศ.ดูค อธิบาย

.

ดังนั้นแล้ว จึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจและพยายามทบทวนพฤติกรรมของเราเอง

.

“ถ้าคุณพยายามที่จะเลิกมันด้วยตัวคุณเอง และพยายามแล้วจริง ๆ แต่ไม่สามารถทำได้ ผมขอแนะนำให้มองหาความช่วยเหลือหรือมาตรการอื่นที่เข้มข้นกว่ามาช่วย” ศ.หลิง แนะนำ

.

3 วิธีหลีกเลี่ยงนิสัยติดการไถหน้าจอ
1. ใช้เวลาทำสิ่งอื่นที่อยู่ห่างจากหน้าจอ
“การมีพิธีกรรมบางอย่างที่ทำให้คุณห่างจากโทรศัพท์ ช่วยได้มากเสมอ” ศ.หลิง ระบุ

.

นักวิชาการภาควิชาจิตเวชศาสตร์จากสหรัฐฯ รายนี้ บอกด้วยว่า รายงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การเดินเล่นโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือสามารถช่วยได้มาก

.

ในประเด็นนี้ ศ.ด้านจิตวิทยาอย่าง ศ.ดูค จากสหราชอาณาจักร เห็นด้วยเช่นกัน โดยเธอบอกว่า “ทุกครั้งที่คุณสามารถทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้านและหยุดพัก ไม่ว่าจะเป็นการไปเดินเล่นหรือไปที่ยิม ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ดี”

.

และนั่นไม่ใช่แค่เพราะกิจกรรมเหล่านั้นได้หยุดคุณจากการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลานั้น แต่ยังช่วยให้คุณใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว ได้ฝึกการทำงานของสมองส่วนอื่น และรับรู้ถึงความรู้สึกของคุณเองเมื่ออยู่ห่างจากโทรศัพท์

.

การสร้างนิสัยหรือกฎการไม่ใช้โทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่กับครอบครัวหรือเพื่อนก็เป็นเรื่องที่ดี ด้วยวิธีนี้มันจะไม่ขึ้นอยู่กับคุณเพียงคนเดียว จะมีคนอื่นคอยเตือนคุณว่านี่ไม่ใช่เวลาที่จะใช้โทรศัพท์ นอกจากนี้ การทำให้กฎดังกล่าวเป็นเรื่องที่เห็นภาพออกมาได้ อย่างเช่น การมีตะกร้าที่ทุกคนสามารถใส่โทรศัพท์ลงไปก่อนรับประทานอาหาร ก็สามารถทำให้การงดใช้โทรศัพท์มือถือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

.

โดยทั่วไปแล้ว ความพยายามใด ๆ ที่จะดึงสติ เพื่อแยกเวลาในการใช้โทรศัพท์ ออกจากเวลาในการไม่ใช้โทรศัพท์ในชีวิตประจำวัน สามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการเลื่อนดูหน้าจออย่างไร้จุดหมายเพราะความคุ้นชินได้

.

“ถ้าคุณสามารถกำหนดช่วงเวลาที่คุณจะไม่ใช้โทรศัพท์ แต่มุ่งเน้นไปที่งานที่กำลังทำ หรืออยู่กับเพื่อนในที่ตรงนั้นจริง ๆ นั่นเป็นความคิดที่ดี” ศ.ดูค กล่าว

.

“อีกอย่างหนึ่งที่ฉันทำในบางครั้ง คือการเปลี่ยนให้จอโทรศัพท์เป็นสีขาวดำ ซึ่งเป็นการทำให้มันน่าสนใจน้อยลงที่จะดูที่หน้าจอ” ศ.หลิง ระบุ

.

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การตั้งกฎการใช้โทรศัพท์บนโต๊ะอาหาร เป็นวิธีการที่ดีในการจำกัดการใช้เวลากับมือถือ

2. มีปฏิสัมพันธ์กับโลกทางกายภาพ
การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกิจวัตรที่เคยทำผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หากเปลี่ยนมาทำโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ก็สามารถช่วยให้ปัญหาที่คุณมีจากการ คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับการไถหน้าจอได้

.

“ในการศึกษาหนึ่งที่เราทำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราพบความแตกต่างอย่างมาก ระหว่างคนที่ใส่นาฬิกาธรรมดาและผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในการดูเวลา” ศ.ดูค กล่าว

.

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ผู้ที่ใช้โทรศัพท์ดูเวลาแทนการดูนาฬิกามักจะ “ติด” อยู่กับการเลื่อนดูจอโดยไม่ตั้งใจ

.

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่นอีกนั่นก็คือ “หากคุณสามารถอ่านอะไรก็ตามที่คุณกำลังอ่านอยู่โดยไม่ต้องผ่านโลกออนไลน์ นั่นยิ่งยอดเยี่ยม" ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ระบุเพิ่มเติม

.

“ฉันสนับสนุนให้ผู้คนอยากรู้และค้นหาวิธีลดเวลาการใช้โทรศัพท์ และใช้เวลามากขึ้นในโลกจริง” ศ.หลิง กล่าว

.

“เราเป็นคนที่สัมผัสกันได้ เราต้องการมีส่วนร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ในโลกจริง”

.

3.อพยายามควบคุมแรงกระตุ้น
เมื่อเรารู้สึกอยากเข้าไปในแอปพลิเคชันและเลื่อนดู หรือเมื่อเราได้ไถหน้าจอแบบนั้นมาแล้วหลายชั่วโมง ไม่บ่อยครั้งเท่าใดนักที่เราจะหยุดพิจารณาถึงเหตุผลว่าเราทำแบบนั้นทำไม หรือเราพอใจกับการตัดสินใจนั้นแค่ไหน

.

การพยายามที่จะระมัดระวังการตัดสินใจ ทบทวนความรู้สึก และดูว่าจิตใจเรามีสภาวะอย่างไรในช่วงเวลาเหล่านั้น คือหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยแก้เรื่องการติดโทรศัพท์ที่ดีเยี่ยมที่เราสามารถทำได้

.

“แรงกระตุ้นในการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก็เหมือนกับความอยาก คุณจะสังเกตเห็นร่างกายเริ่มรู้สึกต้องการมัน สมองของคุณกำลังพูดว่า เฮ่...เวลาผ่านไปนานแล้วที่เราไม่ได้รับโดปามีน มาเถอะ ไปหาอะไรสักอย่าง และความอยากนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกับการเกิดคลื่น” ศ.หลิง ระบุ

.

“แต่คุณต้านทานแรงกระตุ้นนั้นไม่ได้ใช่ไหม ? คุณอาจพูดได้ว่า โอเค นี่คือสิ่งที่ฉันสังเกตเห็นได้ ฉันอยากจะดูโทรศัพท์จริง ๆ อยากจะเปิดดูการแจ้งเตือนนั้น แต่ฉันจะไม่ทำ”

.

ศาสตราจารย์หญิงจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ม.นิวยอร์ก สรุปว่า

.

“ต้องใช้การฝึกฝนและความรับผิดชอบอย่างมาก แต่ฉันเชื่อว่าผู้ที่ฝึกฝนอย่างจริงจังจะเห็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รู้สึกดีขึ้น และมีประสบการณ์ที่ไม่ต้องใช้หน้าจอ ซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมายมากขึ้น” เธอสรุป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cgj48dg3e6do