คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประกาศผลการตัดสินที่กรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน

ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ประกาศผลการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2024 โดยมอบให้กับผู้บุกเบิกและพัฒนาการเรียนรู้ของสมองกล (machine learning) 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฉายาว่า “เจ้าพ่อเอไอ” ผู้วางรากฐานให้กับการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

.

ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ ฮินตัน วัย 76 ปี นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษสัญชาติแคนาดา เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อเอไอ” ซึ่งปัจจุบันสอนและวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต กับศาสตราจารย์จอห์น ฮอปฟีลด์ วัย 91 ปี นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันของสหรัฐฯ จะได้ครองเงินรางวัลมูลค่า 11 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 35.6 ล้านบาทร่วมกัน

.

คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์แถลงว่า ทั้งสองได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ เนื่องจาก “การค้นพบและการประดิษฐ์คิดค้นขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของสมองกลด้วยเครือข่ายประสาทเทียม”

.

การเรียนรู้ของเครื่องจักรหรือสมองกล (machine learning) คือกุญแจสำคัญที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence – AI) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่พัฒนาให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์รู้จักฝึกฝนตนเอง เพื่อที่จะผลิตข้อมูลออกมาได้ตามต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีเอไอในงานหลากหลายด้าน ตั้งแต่การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต การตกแต่งภาพด้วยโทรศัพท์สมาร์ตโฟน โปรแกรมแปลภาษาและจดจำใบหน้า ไปจนถึงการใช้งานขั้นสูงเช่นการสร้างแบบจำลองภูมิอากาศโลก การปรับปรุงคุณภาพของเซลล์สุริยะ และการวิเคราะห์ภาพสแกนทางการแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค

.

ผลงานที่ทำให้ ศ.ฮินตัน ได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ คืองานวิจัยเกี่ยวกับเครือข่ายประสาทเทียม (artificial neurons network) ซึ่งเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่นแชตจีพีที (ChatGPT) ซึ่งเป็นเอไอแบบหุ่นยนต์สนทนาที่ผู้คนนิยมใช้งานกันอย่างสูงทั่วโลก

.

ในตอนแรกเครือข่ายประสาทเทียมถูกสร้างขึ้นเพื่อศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์ โดยใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันเพื่อเลียนแบบเครือข่ายปมประสาทในสมองคน ซึ่งสามารถจะเรียนรู้และพัฒนาการประมวลผลข้อมูลได้ด้วยตนเอง แต่ในเวลาต่อมามีการนำอัลกอริทึมของเครือข่ายประสาทเทียมมาพัฒนาเอไอ ให้มันสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ลองผิดลองถูกได้เหมือนกับคนเรา ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่าการเรียนรู้ในระดับลึก (deep learning)

.

ศ.ฮินตันบอกว่า ผลงานการพัฒนาเครือข่ายประสาทเทียมของเขานั้น เทียบได้กับการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “มันจะไม่ต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่แทนที่เราจะก้าวข้ามขีดความสามารถทางกายภาพที่เคยมีมา ในครั้งนี้เราจะก้าวข้ามขีดจำกัดทางสติปัญญาของมนุษย์”

.

เว็บไซต์ phys.org รายงานว่า ผลงานของ ศ.ฮินตัน นั้นถือว่าเป็น “กำเนิดของเอไอ” อย่างแท้จริง โดยในช่วงทศวรรษ 1980 เขาได้พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า backpropagation ซึ่งสามารถฝึกให้สมองกลเรียนรู้โดยปรับแก้ไขข้อผิดพลาดให้น้อยลงเรื่อย ๆ จนหมดไปในที่สุด

.

กระบวนการนี้ไม่ต่างจากการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ที่การบ้านและข้อสอบจะได้รับการตรวจและชี้ข้อผิดพลาด โดยอาจารย์ผู้สอนจะประเมินผลและให้เกรดไปด้วยในแต่ละครั้ง นักเรียนนักศึกษาจะต้องกลับไปแก้ไขผลงานของตนเองและทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งในกรณีของเอไอนั้นคือการได้คำตอบที่ตรงกับค่าความเป็นจริงของเครือข่ายประสาทเทียม

.

ส่วน ศ.ฮอปฟีลด์ ซึ่งได้ครองรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับ ศ.ฮินตัน เป็นผู้พัฒนาระบบความจำแบบเชื่อมโยง (associative memory) ที่สามารถเก็บรักษาข้อมูลและภาพ รวมทั้งสร้างข้อมูลใหม่ที่มีแบบแผนเดียวกันได้ โดยเขาใช้หลักการทางฟิสิกส์พื้นฐานในเรื่องการหมุนและระดับพลังงานของอะตอม เข้าช่วยในการจำแนกแยกแยะลักษณะของวัตถุและข้อมูล ซึ่งเว็บไซต์ phys.org รายงานว่า ผลงานของ ศ.ฮอปฟีลด์ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ปูทางไปสู่การพัฒนาเครือข่ายประสาทเทียมที่เรียนรู้ได้ของศ.ฮินตัน

.

เจฟฟรีย์ ฮินตัน กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 8 ต.ค. ว่าเขาใช้งานโปรแกรม ChatGPT4

ระบบความจำแบบเชื่อมโยงของ ศ.ฮอปฟีลด์ คือเครือข่ายประสาทเทียมซึ่งสามารถใช้แบบแผนข้อมูลที่ขาดหายหรือไม่สมบูรณ์ มาค้นหาสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันได้ ไม่ต่างจากสมองของคนเราที่พยายามนึกถึงคำศัพท์ต่าง ๆ โดยใช้คำที่ไม่สมบูรณ์แต่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันมาช่วยชี้นำ

.

เว็บไซต์ phys.org ยังระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอทั้งสอง ใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ รวมทั้งความรู้ทางฟิสิกส์เชิงสถิติ (statistical physics) และฟิสิกส์สสารควบแน่น (condensed matter physics) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารากฐานของเอไอด้วย

.

เอไอเป็นเหมือนกับดาบสองคม
ศ.ฮินตัน กล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หลังการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ว่า “ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ผมประหลาดใจมาก จนถึงกับอึ้งตะลึงงันไปเลย”

.

ศ.ฮินตัน ซึ่งลาออกจากบริษัทกูเกิลในปี 2023 ได้กล่าวเตือนถึงอันตรายของปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง ที่อาจกลายเป็นระบบควบคุมมนุษย์ไปในที่สุดมาโดยตลอด เมื่อปีที่แล้วเขากล่าวแสดงความกังวลในงานแถลงข่าวครั้งหนึ่งว่า “ผมห่วงว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมาในภาพรวม อาจเป็นระบบที่ฉลาดกว่าเรา ซึ่งระบบนี้จะมาปกครองเราในที่สุด”

.

ศ.ฮินตัน บอกด้วยว่า แม้ทุกวันนี้เขาจะใช้งานโปรแกรม ChatGPT4 อยู่เป็นประจำ แต่ก็เตือนตัวเองไว้ตลอดว่า มันอาจไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป

.

เมื่อช่วงต้นปีนี้ ศ.ฮินตัน ให้สัมภาษณ์ในรายการบีบีซีนิวส์ไนต์ (BBC Newsnight) โดยแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษมอบเงินรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับพลเมืองทุกคน เพื่อเป็นมาตรการรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยีเอไอ ที่อาจทำให้คนตกงานจำนวนมากและเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจ เพิ่มมากขึ้น

.

“เอไอจะช่วยเพิ่มผลิตภาพและความมั่งคั่งร่ำรวย แต่เงินจะไปสู่กระเป๋าของคนที่มีฐานะเท่านั้น และไม่ไปถึงมือคนตกงานแน่นอน ซึ่งนั่นจะเป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับสังคมของเรา” ศ.ฮินตันกล่าว

.

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งเดียวกัน ศ.ฮินตัน ยังบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกยังคงลังเลที่จะนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในการทหาร ในขณะที่การแข่งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เอไอรุ่นใหม่ ๆ ออกมาวางตลาดให้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสี่ยงที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจะละเลย “ไม่ใช้ความพยายามที่มากพอในเรื่องความปลอดภัย”

.

“ผมคาดว่าภายใน 5-20 ปีต่อจากนี้ มีความเสี่ยงถึง 50% ที่เราอาจต้องเผชิญกับปัญหาเอไอพยายามจะครองโลก” ศ.ฮินตัน กล่าวทิ้งท้าย

.

ด้าน ศ.ฮอปฟีลด์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นแรก ๆ ที่เคยลงนามในหนังสือเรียกร้องให้วางมาตรการควบคุมเทคโนโลยีเอไออย่างเข้มงวด แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า ประโยชน์และโทษของเอไอนั้น เทียบได้กับการวิจัยเชื้อไวรัสและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งการสร้างประโยชน์และการทำร้ายสังคม โดยเขากังวลว่าในอนาคตเอไออาจกลายเป็นระบบควบคุมโลกที่มนุษย์ไม่พึงปรารถนา ดังเช่นในนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cvgl37z6170o