“THEOS - 2” ได้กลายเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย โดยฝีมือคนไทย ที่สามารถขึ้นไปโคจรในอวกาศได้สำเร็จ หลังจากการปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ความสำเร็จในด้านอวกาศของประเทศไทยก้าวไปอีกขั้น
.
THEOS - 2 เป็น ดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากวิศวกรดาวเทียมไทยกว่า 20 คน ออกแบบและพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ณ สหราชอาณาจักร เป็นเวลากว่า 2 ปี ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก SSTL ให้ทีมวิศวกรดาวเทียมไทยพัฒนา payload ที่ 3 เองทั้งหมด ควบคู่กับการพัฒนาดาวเทียม ตั้งแต่การเขียนแบบร่าง ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ รวมถึงประกอบเข้ากับตัวดาวเทียม payload ที่ 3 ที่ว่าก็คือ “ระบบเซนเซอร์และกล้องถ่ายภาพ” ประกอบด้วย กล้องถ่ายภาพโลก กล้องถ่ายภาพดาวเทียม อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กโลก อุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหว อุปกรณ์วัดความเข้มของแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์จีพีเอส
.
ดาวเทียมดวงนี้ จึงเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศ
.
ในเรื่องของวัสดุของดาวเทียม มีวัสดุหลัก 3 ประเภท ได้แก่ อลูมิเนียมเกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุอลูมิเนียมจะถูกออกแบบเป็นโครงสร้างหลักของดาวเทียม เพื่อใช้เป็นโครงหลักในการยึดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และยังเป็นส่วนที่รับแรงมากที่สุดของดาวเทียม ส่วนแผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์จะเป็นโครงสร้างของแผงโซลาเซลล์ด้านนอก ที่เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้การเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิด จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละวัสดุ เพื่อลดน้ำหนักโดยรวมของดาวเทียม รวมถึงลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบดาวเทียม
.
ดาวเทียม THEOS 2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก ประเภทวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ที่โคจรอยู่ในห้วงอวกาศด้วยความสูง 621 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยปกติกลุ่มดาวเทียมประเภท LEO นี้ จะมีความสูงการโคจรไม่เกิน 2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แตกต่างจากกลุ่มดาวเทียมอื่นๆ เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่มีความสูงวงโคจรเหนือพื้นโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร
.
จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ แบ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน 2 รอบ และช่วงเวลากลางคืนอีก 2 รอบ เมื่อดาวเทียม THEOS 2 โคจรผ่านประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จะทำการเชื่อมต่อกับดาวเทียม THEOS 2 เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลภาพที่ดาวเทียมถ่ายและบันทึกไว้บนตัวดาวเทียม อัพโหลดคำสั่งถ่ายภาพสำหรับภารกิจใหม่ รวมถึงตรวจสอบสุขภาพโดยรวมของดาวเทียม โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 15 นาที
.
การโคจรในอวกาศนั้น มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) ซึ่งเป็นระนาบการโคจรในแนวเหนือใต้ ประกอบกับการหมุนตัวของโลกเป็นปัจจัยที่ทำให้ดาวเทียมสามารถเข้าถึงทุกพื้นทั่วโลก โดยดาวเทียม THEOS 2 ถูกออกแบบให้มีแนวการถ่ายภาพ 386 แนววงโคจร และทุกๆ 26 วันดาวเทียมจะโคจรกลับมายังตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ดาวเทียม THEOS-2 ยังมีความสามารถในการเอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพ ทำให้สามารถถ่ายภาพในพื้นที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องรอถึง 26 วันเพื่อถ่ายภาพซ้ำ ณ พื้นที่เดิม
.
ศักยภาพดาวเทียมฝีมือคนไทยดวงนี้ สามารถถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลที่ได้นั้น สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ และนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1: 1000
.
ด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล นอกจากจะเห็นลักษณะของวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50x50 เซนติเมตรแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของวัตถุนั้นๆด้วย เช่น ชนิดของต้นไม้ สีและประเภทของรถยนต์ สภาพของตัวอาคาร ลักษณะความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000096651