เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แจงอีก กรณีผลตรวจสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในองุ่นไชน์มัสแคทที่สุ่มตรวจแล้วพบสารพิษตกค้างจาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2567 โดยได้หยิบยกมาตรฐานตรวจของอียู
.
รายชื่อสารพิษตกค้างที่พบในองุ่นไชน์มัสแคท 24 ชนิดเป็นสารที่ Not approved หรือไม่อนุมัติให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ในการเพาะปลูกในสหภาพยุโรป (EU)
.
รายชื่อ 24 ชนิดสารนี้ มาจากทั้งหมด 50 ชนิดสารที่ตรวจพบจากองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ที่ถูกสุ่มซื้อมาจากตลาดและในห้าง ใน กทม. และปริมณฑล เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2567
.
จากการสุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท หากวิเคราะห์ผลตามมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) จะพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 23 ตัวอย่าง จาก 24 ตัวอย่าง
.
สิ่งที่สหภาพยุโรปจะดำเนินการเมื่อตรวจพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามมาตรการที่วางไว้ คือการตีกลับ เก็บออกจากตลาด เรียกคืนจากผู้บริโภค ทำลายทิ้ง
.
กับคำถามที่ค้างคาใจคนไทย ณ เวลานี้ คือ ในขณะที่สหภาพยุโรปไม่แอพพรูฟ ประเทศไทยล่ะ จะตอบสนองอย่างไร?
.
ควรกิน-ไม่กิน ! อย. ตอบไม่เต็มปาก ไทยแพน-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชูความปลอดภัยต้องมาก่อน
.
ช่วงเย็นวานนี้ (28 ต.ค.2567) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ (ไทยรัฐทีวี) กับคำถามสุดท้ายที่ว่า ผู้บริโภคควรกินหรือไม่กิน ทั้งสองคนตอบเหมือนกัน “ถ้าเป็นตนเอง ขอเลือกไม่กิน เพื่อความปลอดภัย”
.
ในขณะที่ ผู้บริหารอย. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ได้ตอบคำถามเดียวกันแบบไม่เต็มปาก ว่าผู้บริโภคกินได้โดยไม่อันตราย แต่เลี่ยงที่จะแนะนำให้ลดอันตรายด้วยการล้างองุ่นด้วยเบกกิ้งโซดา หรือผงฟู ก่อนรับประทาน
.
วันเดียวกันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำโดยเลขาธิการ อย. นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์
จัดแถลงข่าวยกระดับมาตรฐานเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้อย่างเข้มงวด เพิ่มการตรวจสอบทั้งชนิดสารกำจัดศัตรูพืชและจำนวนตัวอย่างกว่า 10 เท่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค“ในปีนี้ อย. จะยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าผักและผลไม้ในปี 2568 โดยการเพิ่มชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจวิเคราะห์ อย่างกรณีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเก็บข้อมูลการตรวจสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงรายการสารกำจัดศัตรูที่จะตรวจวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักและผลไม้ และเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจากปีงบประมาณ 2567 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ส่งตรวจวิเคราะห์โดยประมาณ 500 ตัวอย่างจะเพิ่มเป็น 5,000 ตัวอย่าง หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า อย่างไรก็ตามควรล้างผักและผลไม้ก่อนการบริโภคทุกครั้ง” เลขาธิการ อย.กล่าว
.
ไทยแพน ชู Rapid Alert System
ระบบเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผลิตผลเกษตรที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด
.
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เผยว่าเพราะอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคน ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างระบบการตรวจสอบอาหารที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน ภายใต้ Rapid Alert System ระบบเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผลิตผลเกษตรที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เพื่อการแจ้งเตือนผู้บริโภค หน่วยงาน และผู้ประกอบการ นำไปสู่การรับมือและแก้ไขที่เหมาะสม
.
เพื่อให้การพัฒนาระบบ Rapid Alert System เกิดขึ้นจากมุมมองที่รอบด้านและการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเปิดเผย เราต้องการความร่วมมือจากทุกคนค่ะ โดยจัดกลุ่มไว้เป็นเบื้องต้นดังนี้
👨💻 UX/UI designer
👨🌾 เกษตรกร
👩💼 นักวิชาการ
🧑🏼💼 นักกฎหมาย
👩🏻⚕️ บุคลากรด้านสาธารณสุข
🙋🏻♂️ ทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วม
.
โดยการกดไปที่ลิงค์นี้ https://forms.gle/FZCQjmHW9z2oC62U6 หรือสแกน QR Code ที่ปรากฏอยู่บนภาพได้เลย
.
*ข้อมูลของทุกท่านจะถูกเก็บรักษาเป็นข้อมูลเพื่อการรวบรวมผู้สนใจมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ Rapid Alert System โดยไม่เผยแพร่
.
"เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) คือ เครือข่ายที่รวมภาคประชาชน นักวิชาการ เกษตรกร ผู้บริโภค ที่ตระหนักถึงและรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย ลดการเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และได้อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย"
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000104041