ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย นำโดย เมลิสา ฮั้นท์ นักจิตวิทยา ได้ออกแบบการวิจัยที่เน้นศึกษาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook Snapchat และ Instagram โดยมุ่งศึกษาว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้มีผลต่อสุขภาพจิตของคนเราอย่างไร
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Social and Clinical Psychology ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้
การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วม 143 คน โดยก่อนหน้าที่จะเริ่มการวิจัย อาสาสมัครทั้งหมดต้องตอบเเบบสำรวจทางอารมณ์เสียก่อนเเละส่งภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่แสดงความบ่อยและระยะเวลาของการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดดูสื่อสังคมออนไลน์การวิจัยนี้เเบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้ตามปกติโดยไม่ต้องปรับพฤติกรรม ส่วนกลุ่มควบคุมใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เพียงวันละ 10 นาทีต่อสื่อเเต่ละอย่าง
การควบคุมระยะเวลาในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์นี้นานเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกันและผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มควบคุมได้รับการทดสอบผลการวิจัย โดยวัดดูความรู้สึกต่างๆ อาทิ ความกลัวว่าจะพลาดอะไรไป หรือ FOMO ความวิตกกังวล ความซึมเศร้าและความเหงา
ผลการวิจัยนี้ชี้ถึงความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์เเละการเพิ่มขึ้นของระดับความซึมเศร้าและความเหงา
ฮั้นท์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยกว่าปกติที่เคยใช้ ทำให้ความซึมเศร้าเเละความเหงาลดลงอย่างชัดเจน ผลดีต่อจิตใจจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยลง เห็นได้ชัดเจนมากในคนที่ซึมเศร้ามากกว่าคนอื่นตอนที่เริ่มต้นการวิจัยเเละเกิดคำถามว่าอะไรทำให้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความซึมเศร้ากับผู้ใช้
ฮั้นท์ หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่ามีปัจจัยหลักสองอย่างด้วยกัน อย่างแรก สื่อสังคมออนไลน์สร้างความรู้สึกเปรียบเทียบกับตนเองในทางลบ อาทิ คนรู้สึกว่าเมื่อดูภาพเเละอ่านโพสต์ของคนอื่นเเล้ว คนอื่นน่าสนใจกว่าตนเอง สนุกมากกว่าเเละรู้สึกว่าตนเองไม่มีโอกาสเเบบนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ส่วนปัจจัยสำคัญอย่างที่สองคือความเสียเปล่าของเวลาเพราะทุกนาทีที่ใช้ไปกับสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรทำหรือพลาดโอกาสไปกินข้าวเย็นนอกบ้านกับเพื่อนหรือไม่ได้สนทนากับเพื่อนร่วมหอพักและนักวิจัยชี้ว่ากิจกรรมในชีวิตจริงเหล่านี้ที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกดีต่อตนเองและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
ฮั้นท์ชี้ว่าการวิจัยมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยอย่างแรก การวิจัยจัดทำในกลุ่มคนอายุ 18-22 ปีโดยเฉพาะเเละไม่เเน่ชัดว่าผลกระทบจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าจะมีผลต่อคนที่อายุแก่กว่าหรืออ่อนกว่าหรือไม่ เเต่ฮั้นท์ นักวิจัยคาดว่าผลการศึกษานี้น่าจะใช้สรุปรวมได้ถึงกลุ่มคนที่อายุจนถึง 30 ปี
และในขณะนี้ ฮั้นท์ นักวิจัยกล่าวว่าทีมงานกำลังเริ่มต้นการศึกษาที่วัดดูผลกระทบทางจิตใจจากแอพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้ในการหาคู่
ที่มา : Voice of America 26 พฤศจิกายน 2561 [https://www.voathai.com/a/soical-media-depression-link/4665880.htmlv]