ฟู้ดอินโนโพลิส สวทช. จับมือ ซันกรุ๊ป เปิดศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต และตั้งแล็บทดสอบทางประสาทสัมผัส พร้อมคลังข้อมูลวัตถุดิบหนุนวิจัยอาหารแห่งแรกของไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส แถลงข่าวความร่วมมือจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัส และศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หรือ future food lab เมื่อวันที่ 26 มี.ค.62 โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร นายจำลอง เติมกลิ่นจันทร์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซันกรุ๊ป จำกัด และ อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ร่วมแถลงข่าว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สวทช. ลงนามร่วมมือกับบริษัท ซันกรุ๊ป จำกัด เมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมา สวทช. พร้อมต่อยอดและสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ ทันที โดยบริษัทซันกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจรทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารไก่ ฟาร์มพ่อ แม่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ ธุรกิจไก่ประกัน และไก่จ้างเลี้ยง โรงงานผลิต และแปรรูปเนื้อไก่สดเนื้อไก่แช่แข็งเพื่อการส่งออก รวมถึงโรงงานผลิตอาหารปรุงสุกแช่แข็งจากเนื้อไก่
บริษัทซันกรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยอยู่แล้ว และเป็นสมาชิกของฟู้ดอินโนโพลิส ซึ่งได้ทำงานกับเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบและจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสตามมาตรฐานสากล โดยได้รับคำแนะนำและร่วมออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ ยังกล่าวว่า ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มของฟู้ดอินโนโพลิส โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฟู้ดอินโนโพลิส และ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในเชิงจุลภาค และมหภาค สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับและครบทุกมิติการทำงาน ด้วยการดำเนินงานแบบ One-Stop Service โดยทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และศูนย์บัญชาการและประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับตรวจสุขภาพธุรกิจและวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น และนำมาประมวลหาการแก้ไขที่เหมาะสม
"มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมเรียนรู้และเห็นปัญหาของตนอย่างรวดเร็ว นับเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาหารเบื้องต้น และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้เชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และพัฒนาความรู้ที่ได้ จากงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือนวัตกรรมกระบวนการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนและช่วยผลักดันให้งานที่ทำสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในขั้นตอนนี้ จะเป็นการติดต่อประสานงานผู้ผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อได้สินค้าต้นแบบในการทดสอบตลาด รวมถึงหาตลาดและช่องทางการขาย และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ในการทำวิจัย 17 บริษัท รวมถึงยังมีผู้ประกอบการใช้บริการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น มากกว่า 20 บริษัท"
ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในปัจจุบันเมืองนวัตกรรมอาหารมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในครั้งนี้มีความร่วมมือกับบริษัทซันกรุ๊ป จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาความเข้มแข็งของบุคลากรให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารรายอื่นๆ ด้วย
"ในส่วนการจัดตั้งศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ได้เริ่มดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง โดยให้บริการในลักษณะ One-Stop Service ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับดำเนินงาน อำนวยความสะดวกในการทำวิจัย ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาด และมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนทีมวิจัยและคณะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร"
ทั้งนี้ เมืองนวัตกรรมอาหาร ได้ตั้งเป้าหมายจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง ได้มีโอกาสทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการมายาวนาน โดยขณะนี้มีบริษัทเข้าร่วมโครงการและเข้ามาทำวิจัยใน Future Food Lab เกือบเต็มพื้นที่แล้ว และภายใน 5 ปี คาดว่าจะสนับสนุนได้ 100 ราย
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพฟู้ดอินโนโพลิสยังได้ร่วมจัดตั้งคลังฐานข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร หรือ Food Ingredient Library ขึ้นภายในศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร เพื่อให้บริการสำหรับนักวิจัยและผู้ที่สนใจการทำวิจัยด้านอาหาร โดยสามารถเข้ามาค้นหาวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารเพื่อนำตัวอย่างไปทดลองใช้ในงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดทำเรื่องนี้
“ในอนาคตเราจะใช้ Food Ingredient Library นี้ เป็นต้นแบบของคลังอื่น ที่ฟู้ดอินโนโพลิสวางแผนจะจัดตั้งตามมา ไม่ว่าจะเป็น Material Library ซึ่งจะรวบรวมบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และ OEM Library ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่รับทำ OEM เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิจัยต่อไป” ดร.อัครวิทย์ กล่าว
ที่มา : Manager online 26 มีนาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000030204]