สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ หลายคนต้องหยุดอยู่บ้าน หรือทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เมื่อวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้แหล่งกำเนิดขยะหลักเปลี่ยนไปตามคนอยู่อาศัย แหล่งกำเนิดขยะหลักในตอนนี้จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านเรือน
ขยะในบ้าน แบ่งออกได้ 5 กลุ่ม

1.ขยะอาหาร ทั้งที่มาจากการประกอบอาหารเอง หรือจากการสั่งอาหาร2.ขยะบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร เช่น แก้วน้ำ หลอดพลาสติก กล่องอาหาร และช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง3.บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สัมผัสกับอาหาร เช่น กล่องไปรษณีย์ ซองจดหมาย พลาสติกกันกระแทก และถุงพลาสติกหูหิ้ว4.ขยะอื่นๆ ที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น กระดาษเอกสาร กระดาษชำระ5.หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งและหน้ากากประเภทอื่นๆ เช่น หน้ากาก N95
ขยะตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณมากขึ้น ทุกคนในบ้านจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ว่าจะต้องนำไปจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1.ใช้แนวทางที่ช่วยลดปริมาณการเกิดขยะ ไม่ว่าจะเป็นการงดใช้ การลดการใช้ และการใช้ซ้ำให้มากที่สุด เพื่อช่วยลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง
2.การจัดการขยะที่เกิดขึ้นในบ้าน โดยการแยกขยะเพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลขยะ โดยแบ่งขยะออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ หน้ากากอนามัย ขยะอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป โดยมีขั้นตอนแนะนำในการจัดการอย่างง่ายดังนี้
-แยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่น
-แยกขยะรีไซเคิลที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหาร เช่น กล่องกระดาษ ถุงพลาสติก
-แยกขยะอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ที่มีการสัมผัสกับอาหาร
-ขยะรีไซเคิลที่มีการสัมผัสกับอาหาร จะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนแยกประเภท
-ขยะที่เหลือที่ไม่ใช่ขยะอาหาร และขยะรีไซเคิลได้ ให้รวมทิ้งในถังขยะทั่วไป
3.นำขยะที่แยกไว้แต่ละกลุ่มไปจัดการหรือทิ้งอย่างถูกต้องในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมไว้ เช่น นำหน้ากากอนามัยไปทิ้งยังสถานที่ที่เตรียมไว้รองรับ หรือมัดใส่ถุงพร้อมระบุไว้ด้วย นำขยะอาหารไปใส่ถังหมัก หรือนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้แล้วทิ้งลงในถังที่เตรียมไว้รองรับขยะรีไซเคิล
ข้อแนะนำให้ปฏิบัติดังกล่าว ถ้าทุกคนที่อยู่ในบ้าน ลดและแยกขยะอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมกับการลดผลกระทบจากขยะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก ถ้ามีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะช่วยให้พลาสติกเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ที่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการจัดการพลาสติก
ข้อมูลอ้างอิง ผลการศึกษา จัดการ”ขยะ”อย่างไร? เมื่อต้องอยู่ติดบ้าน ในสถานการณ์โควิด-19 โดย ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industry Liaison Program , ชนม์นิภา ว่องวีรวัฒนกุล และ ศ.ดร.พิสุทธ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : Manager online 25 เมษายน 2563  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000043505]