ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล (Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris)
โดยในครั้งนี้สามารถได้รับการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ 1.ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค 2.กรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งด้านนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล
อย่างไรก็ตาม “กรีนพีซ” ได้ย้ำถึง 3 ข้อเสนอแนะต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนี้
หนึ่ง ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก รวมถึงการนำเข้า “เพื่อรีไซเคิล” และรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขเพิ่มเติมในอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment)
สอง สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญและเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า
สาม ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์(zero waste) ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด
นอกจากนี้ กรีนพีซกำลังเดินหน้ารณรงค์ออนไลน์ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อเปิดให้สาธารณชนร่วมเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนให้กอบกู้วิกฤตมลพิษพลาสติก
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของกรีนพีซ “กรณีปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน” และ“กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล” กล่าวว่า
“ปฏิญญากรุงเทพฯ” ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบการปฏิบัติงานอาเซียน ว่าด้วยขยะทะเล เป็นตัวอย่างที่ดีของปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม “กรอบการปฏิบัติงาน” ไม่ได้เน้นถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของมลพิษพลาสติก กลับมุ่งไปที่การจัดการของเสียมากกว่าเรื่องของการลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการเกิดขยะ
พลาสติกเป็นปัญหามลพิษ ไม่ใช่ปัญหาขยะ และต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน ข้อจำกัดของกรอบการปฏิบัติงานว่าด้วยขยะทะเล คือเน้นเพียงการจัดการปลายทางหลังจากมลพิษพลาสติกได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์กากของเสีย การจัดการของเสียและการกำจัดขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะจัดการขยะพลาสติกอย่างไรเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะทะเล แต่ทุกประเทศต้องมุ่งไปที่ต้นตอ และลดการผลิตพลาสติกลงอย่างขนานใหญ่
ในขณะที่กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลกล่าวถึงนวัตกรรมและทางเลือก แต่กลับขาดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาระบบที่เหมาะสม ไม่ขึ้นอยู่แต่การแทนบรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุอย่างอื่นที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนอยู่ในจุดที่จะพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดที่มีต่อพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เพื่อการลดมลพิษพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนผืนดินหรือในทะเล ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องขับเคลื่อนให้เหนือไปกว่ากรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลและสร้างนโยบายในระดับประเทศเพื่อรับประกันว่าการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจะเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ สามารถทำให้เกิดขึ้นโดยการออกข้อบังคับและการยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และออกกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการออกแบบใหม่ของบรรจุภัณฑ์และระบบกระจายสินค้าออกสู่ตลาด
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลนั้นล้มเหลวในการพูดถึงปัญหาการนำเข้าขยะ ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างต่อกรกับการค้าของเสียซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาและสังคม น่าเสียดายที่อาเซียนไม่ลงมือทำในเรื่องการค้าของเสีย ถึงแม้ว่าจะนำเข้ามาเพื่อการรีไซเคิล ทั้งๆ ที่การประชุมสุดยอดนี้ถึงเป็นเวลาที่ดีที่สุด
ที่มา : Manager online 27 มิถุนายน 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000061065]