ศ. เอเตียนน์ ไคลน์ กับชิ้นไส้กรอกเจ้าปัญหา

ศาสตราจารย์ เอเตียนน์ ไคลน์ นักฟิสิกส์และนักปรัชญาวิทยาศาสตร์คนดังของฝรั่งเศส ยอมออกมากล่าวขอโทษต่อบรรดาผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หลังจากใช้ภาพไส้กรอกสเปน “โชริโซ” (Chorizo) ที่ถูกหั่นเป็นแว่น ลงเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ โดยอ้างว่าเป็นภาพคมชัดล่าสุดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) บันทึกไว้ได้

.

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ศ. ไคลน์ เผยแพร่ภาพชิ้นไส้กรอกดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า “นี่คือภาพของพร็อกซิมา เซนทอรี (Proxima Centauri) ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และอยู่ห่างจากเรา 4.2 ปีแสง”

.

“ภาพถูกบันทึกไว้ด้วยกล้อง JWST...ด้วยความละเอียดสูงขนาดนี้ โลกใบใหม่ถูกค้นพบอยู่เรื่อย ๆ วันแล้ววันเล่า”

.

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนมองไม่ออกว่าภาพดาวฤกษ์ของ ศ. ไคลน์ แท้จริงคือเนื้อไส้กรอกแสนอร่อย เพราะมันแทบจะไม่ต่างกับดาวฤกษ์ยักษ์สีแดง ที่มีกลุ่มก้อนพลังงานหมุนวนปั่นป่วนบนพื้นผิวคล้ายพายุสุริยะ ทั้งยังดูคล้ายกับภาพอันโด่งดังของดวงอาทิตย์ที่ถ่ายโดยกล้อง EUI ซึ่งติดตั้งบนดาวเทียมสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ (Solar Orbiter) อีกด้วย

.

หลังจากมีเสียงวิจารณ์ตำหนิจากกลุ่มคนที่ทราบว่าภาพดังกล่าวคืออะไร ศ. ไคลน์ได้ทวีตข้อความขออภัย โดยบอกว่าไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงมุกตลกของเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นเตือนให้ผู้คนคิดไตร่ตรอง และตั้งคำถามกับภาพดาราศาสตร์ที่สวยงามน่าทึ่งอยู่เสมอ โดยไม่ควรยอมรับคำอธิบายจากผู้รู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างง่ายดายแบบอัตโนมัติ

.

“ไม่มีวัตถุที่จัดเป็นอาหารกินเล่นของสเปนอยู่ที่ไหนเลย นอกจากบนโลก” ศ. ไคลน์กล่าว

.

เมื่อเดือนที่แล้ว อีลอน มัสก์ ประธานผู้บริหารคนดังของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้ลงภาพและข้อความทางทวิตเตอร์ที่เป็นมุกตลกล้อเลียนผลงานของกล้อง JWST เช่นกัน โดยชี้ว่าภาพดวงดาวและกาแล็กซีจำนวนมหาศาลในห้วงอวกาศลึก (deep field image) แทบจะไม่แตกต่างจากลวดลายของหินแกรนิตที่ใช้ปูเคาน์เตอร์ทำครัวเลย

.

ภาพกาแล็กซีล้อเกวียน (ขวา) และดาราจักรที่อยู่ใกล้เคียง จากกล้อง JWST 

นับแต่เปิดตัวภาพชุดที่เป็นผลงานชิ้นแรกในช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กล้อง JWST เผยผลงานที่น่าทึ่งออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจับภาพกาแล็กซี CEERS-93316 ซึ่งถือกำเนิดหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงเพียง 235 ล้านปี และอาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา หรือการบันทึกภาพดาว Earendel ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่โดดเดี่ยวและห่างไกลจากเรามากที่สุดถึง 28,000 ล้านปีแสง

.

ล่าสุดกล้อง JWST เผยแพร่ภาพกาแล็กซีล้อเกวียน (Cartwheel Galaxy) ซึ่งเกิดจากการชนและรวมตัวของกาแล็กซีโบราณสองแห่ง โดยภาพจากกล้อง JWST เผยถึงรายละเอียดภายในกาแล็กซีล้อเกวียนได้ชัดเจนกว่าที่กล้องฮับเบิลเคยบันทึกไว้ โดยสามารถส่องทะลุกลุ่มฝุ่นและก๊าซหนาทึบเข้าไปเห็นกระจุกดาวฤกษ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นใหม่ได้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4n79gdnynwo