เชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma pneumoniae) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในธรรมชาติและสามารถติดจากคนสู่คน การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ และยังเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งทางสมองและหัวใจ ที่รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้

.

คนไทยอาจจะเคยได้ยินชื่อเชื้อชนิดนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อน จากข่าวการป่วยด้วยอาการปอดอักเสบ ไข้หวัดในกลุ่มเด็ก และการระบาดในค่ายทหารที่ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

.

รู้จัก เชื้อไมโคพลาสมา ที่ก่อโรคคล้ายหวัด ปอดอักเสบ

.
คำอธิบายจาก นพ. ธเนศ แก่นสาร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ให้ความรู้ไว้ในรายการ พบหมอรามา ระบุว่า ไมโคพลาสมา เป็นเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่อยู่ในตามธรรมชาติ แต่สามารถติดจากคนสู่คนได้

.

เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ต่ำ ๆ และส่วนล่างคือ อาการเกี่ยวกับปอด "ในบางคนโดยเฉพาะเด็กหากติดเชื้อดังกล่าว อาจเกิดภาวะลงไปที่ปอดทำให้เป็นปอดอักเสบ ปอดบวม ปอดติดเชื้อ"

.

การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเหมือนการติดหวัด หายใจสูดเอาละอองของเชื้อผ่านการไอ จาม สามารถติดได้ทุกที่ เพราะเป็นการติดจากคนสู่คน โดยเฉพาะในบริเวณที่แคบ สถานที่ปิด สถานที่ที่มีผู้คนแออัด

.

นพ. ธเนศ กล่าวว่า อาการของการติดเชื้อจะเป็นลักษณะอาการของการโรคไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็นไอ จาม มีน้ำมูก มีไข้ ปวดศีรษะ เด็กบางคนเป็นแล้วไม่หาย เนื่องจากเป็นเพราะว่า มีอาการปอดอักเสบติดเชื้อด้วย ทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายวัน

.

การตรวจเชื้อ ใช้วิธีเก็บตัวอย่างที่ลำคอ เพื่อนำไปตรวจว่ามีดีเอ็นเอของเชื้อหรือไม่ นั่นคือต้องหาตัวเชื้อให้ได้ การเจาะเลือดทำได้เช่นกัน แต่ไม่แม่นยำเท่า และวิธีการเจาะภูมิคุ้มกันหลังจากหายแล้วเพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัย

.

"วิธีการตรวจยืนยันค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะรักษาไปก่อน แล้วจึงตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าใช่การติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้หรือไม่”

.

ความรุนแรงมีรายงานถึงขึ้นเสียชีวิต แต่เกิดน้อย เพราะส่วนใหญ่แล้ว ในผู้ป่วยเด็ก หากรุนแรงจะมีไข้สูง เป็นปอดอักเสบ หายใจเร็ว เนื่องจากมีการติดเชื้อที่ปอดและมีเสมหะมาก

.

เคยระบาดในทหารเกณฑ์ที่ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อปี 2555

.
เดือน มิ.ย. 2555 โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์ ติดป้าย "ปิดเขตกักกันโรค เปิดวันที่ 5 มิถุนายน" บริเวณประตูหน้าโรงพยาบาล เนื่องจากทหารเกณฑ์ผลัด 1 สังกัดกองพันทหารม้าที่ 7 (จ. อุตรดิตถ์) กรมทหารม้าที่ 2 (จ. เพชรบูรณ์) กองทัพภาคที่ 3 (จ. พิษณุโลก) เกิดอาการป่วยหัวใจเต้นเร็ว ปอดอักเสบ คล้ายโรคไข้หวัด แต่อาการรุนแรงกว่า และเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มทหารเกณฑ์

.

นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในขณะนั้น เปิดเผยผลการตรวจสอบร่วมกับกรมแพทย์ทหารบก พบว่าเชื้อดังกล่าว เป็นเชื้อกึ่งไวรัสกึ่งแบคทีเรีย เรียกว่า ไมโคพลาสมา ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดร่วมกับอาการปอดอักเสบปอดบวม ซึ่งอาการจะรุนแรงมากกว่าไข้หวัดทั่วไป

.

นพ. พรเทพ กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคในกลุ่มทหารและครูฝึก 140 ราย พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 96 ราย ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ทั้งหมด ภายหลังมีทหารเกณฑ์ 1 ราย ที่คาดว่าติดเชื้อมาจากชุมชนหรือบ้าน โดยเชื้อชนิดนี้ จัดเป็นกลุ่มที่ก่อเชื้อปอดบวมทั่วไป ไม่ใช่เชื้อใหม่

.

ในจำนวนนี้มี 15 รายที่อาการรุนแรง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะปอดบวม 10 ราย และปอดอักเสบอีก 5 ราย นอกนั้นเป็นไข้หวัด มีน้ำมูกไหล ไอ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

.

พบอาการแทรกซ้อนที่อวัยวะอื่นได้ ในไทยเคยมีผู้ป่วยเด็กเกิดอาการหัวใจช็อค

.
วารสารการแพทย์ "จุฬาลงกรณ์เวชสาร" เคยตีพิมพ์รายงานผู้ป่วยจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า มีรายงานผู้ป่วยเด็ก 1 ราย ที่เกิดภาวะหัวใจช็อค จากการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนีย

.

รายงานจาก นพ. ไพโรจน์ โชติวิทยธารากร พร้อมคณะ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2531 ระบุว่า นอกจากอาการทางระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อไมโคพลาสมา ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคที่เกิดจากการอักเสบแบบเฉียบพลันทางผิวหนัง (erythema multiforme) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ประสาทส่วนปลายอักเสบ ภาวะซีดจากเม็ดโลหิตแดงแตก ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนภาวะหัวใจช็อค พบได้น้อยมาก

.

ผู้ป่วยเป็นเด็กชายไทยอายุ 14 ปี เข้ารับการรักษาในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ. จุฬาฯ ด้วยอาการไข้ ไอ และหายใจหอบ ในวันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมีประวัติของการไอแห้ง ๆ อาเจียน และปวดบริเวณน่องทั้งสองข้าง เป็นมา 4 วันก่อนมาโรงพยาบาล อดีตผู้ป่วยเป็นเด็กที่แข็งแรงดีมาตลอด และไม่มีประวัติของโรคหัวใจมาก่อน

.

รายงานระบุด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการภาวะช็อคจากเหตุหัวใจ (cardiogenic shock) ร่วมกับการตรวจพบว่ามี โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (mitral insufficiency) เป็นอาการนำ จากการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ภายหลังการรักษา พบไตเตอร์ของเชื้อไมโครพลาสมาระดับสูงและมีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเจาะเลือดภายหลัง 2 สัปดาห์ จึงทำให้สามารถวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อไมโคพลาสมาได้ ซึ่งเข้ากับรายงานของผู้อื่น

.

แพทย์วินิจฉัยด้วยว่า ภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว น่าจะมีสาเหตุเกิดจากการผิดปกติของกล้ามเนื้อยึดลิ้นหัวใจ (papillary muscle dysfunction) จากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเป็นสาเหตุของการเกิดอาการหัวใจช็อค แต่ไม่ทราบแน่ชัดถึงพยาธิสภาพกำเนิดของหัวใจอักเสบ เชื่อว่าเกิดจากการที่เชื้อไมโคพลาสมาทำลายกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงหรืออาจเกิดจากกลวิธีทางอิมมูน

.

รายงานผู้ป่วยฉบับดังกล่าวจากแพทย์โรคหัวใจเด็ก บอกด้วยว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันร่วมกับโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว จำเป็นต้องคิดหาสาเหตุจากการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนีย นอกเหนือจากไข้รูห์มาติก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส และการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ

.

ภาวะหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไมโคพลาสมารุนแรงถึงชีวิตหรือไม่

.
เอกสารวิชาการชิ้นนี้เมื่อปี 2531 ระบุภาวะหัวใจอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไมโคพลาสมา สามารถพบได้ 2.4-8.5% ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 20 ปี แต่ก็มีรายงานพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

.

ขณะที่ประมาณ 70% ของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจนำมาก่อน 11 วัน และผู้ป่วย 30% จะมีอาการหัวใจอักเสบภายในหนึ่งสัปดาห์ บางรายมีอาการปวดกล้ามเนื้อมาก่อน

.

นอกจากนี้ การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยพบว่าค่อนข้างดีและมักหายเป็นปกติ แต่บางรายยังคงมีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย และในบางรายมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต แต่พบเป็นส่วนน้อย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cy0k5kjjln3o