ฉลองวันตรุษจีน ปีกระต่าย ให้ Eco-Friendly หรือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทรนด์สำคัญของโลกยุคปัจจุบัน เราตั้งเป็นจุดสตาร์ทวันใหม่ที่เปลี่ยนสู่วิถีชีวิตใหม่แบบ Eco ได้ ทั้งเพื่อตัวเรา ครอบครัว และสังคมแวดล้อม

.

รู้หรือไม่! โลกทุกวันนี้กำลังแย่ลงเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เรียกว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” (Global Climate Crisis)

.

โลกใบนี้ ในวันนี้จึงไม่เหมือนเดิม! วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กล่าว กำลังย้อนกลับมาทำลายสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ด้วยภาวะโลกร้อนจนกลายเป็น "โลกรวน” มากขึ้นทุกวัน

.

ตรุษจีนในปีนี้ เราสามารถเริ่มต้นให้เป็นวันที่ดี ด้วยเทคนิคง่ายๆ 3 R อย่างที่หลายคนทราบดี เพียงแต่ว่ายังไม่เริ่มลงมือเสียที Reduce คือการลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้น เช่น งดการใช้พลาสติกแบบ Single use ที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง Reuse คือการนำกลับมาใช้ใหม่ ค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้สิ่งต่างๆ ที่แทนการถูกโยนทิ้งไป และ Recycle คือการเปลี่ยนสิ่งที่เก่าและไร้ประโยชน์ ให้เป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์

.

การฉลองแบบใส่ใจโลก ด้วยหลักการ 3 R ไม่ขัดใจเหล่าอากง-อาม่า เพียงขอให้เริ่มลงทำกันตั้งแต่ วันจ่าย-ไหว้-เที่ยว ช่วงตรุษจีนปีนี้

.

วันจ่าย : พกถุงผ้า ใช้ถุงซ้ำ ชอปของไหว้

.

วันจ่ายปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม หลายปีที่ผ่านมา เราคงเห็นผู้คนจำนวนมากไปชอปตัวเปล่า แต่กลับมาพร้อมของไหว้ที่มีบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกจำนวนมาก ขอได้โปรดตระหนักว่า ของกินย่อยสลายได้ในไม่กี่วัน แต่เหล่าถุงพลาสติก ภาชนะพลาสติกทั้งหลายกว่าจะย่อยสลาย ตัวท่านเกิดมาใหม่อีก 4 รอบ (300-450 ปี) ก็ไม่ย่อยสลายไปจากโลก และในระหว่างทางนั้น บางส่วนของพลาสติกก็อาจกลายเป็นพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไปตกทะเล มหาสมุทรที่ก่ออันตรายต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศมหาสมุทร
ดังกล่าวมา แทนที่ท่านจะไปตัวเปล่า ขอชวนให้เตรียมถุงผ้า ถุงพลาสติกใบใหญ่ ใบเล็ก (สภาพใช้ซ้ำได้) หลายๆ ใบ ติดตัวไปด้วย ตอนซื้อของก็อย่าลืมบอกพ่อค้าแม่ค้า ให้ใช้ถุงของเรา (พ่อค้าแม่ค้า ยิ่งชอบ) หลายคนอาจนึกถึงตอนที่ซื้อของสด ยังไงก็ต้องใช้ถุงพลาสติกที่ดี ก็ขอแนะนำให้ใช้ถุงที่ใช้ซ้ำ แต่เป็นถุงพลาสติกประเภท HDPE ที่มีความยืดหยุ่น ทนทาน ไม่รั่วซึม รองรับน้ำหนักได้ดี และยังทนความเย็นและร้อนถึง 80 องศาเซลเซียส ทนเย็น โดยที่สารเคมีไม่ละลายมาเจือปนกับอาหาร อีกทั้งนำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

.

วันไหว้ : ลดจุด ลดเผา เบาเสียง ช่วยลดฝุ่น PM2.5

วันไหว้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม ลองนึกถึงภาพวันไหว้ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำคืน ครอบครัวไหนเคร่งครัดมาก จะต้องทำพิธีไหว้กันถึง 3 ครั้ง เริ่มจากการไหว้เทพเจ้า “ไป่เล่าเอี๊ย” ตอนเช้ามืด, ไหว้บรรพบุรุษ “ไป่แป๋บ้อ” ตอนสาย และไหว้วิญญาณ “ไป่ฮ่อเฮียตี๋” ในตอนบ่าย ซึ่งการไหว้แต่ละครั้งก็จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างมลพิษทางอากาศในช่วงฤดูหนาวที่มักจะมีฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกิดขึ้น

.

ยิ่งจุดธูป เผากระดาษมากเท่าไหร่ ฝุ่นควันก็ไปสมทบกับมลพิษทางอากาศให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเจ้ากระดาษไหว้เจ้าที่เคลือบสีมันวาวดูสวยงาม พอถูกเผาทำให้เกิดควันพิษที่เจือปนด้วยสารโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส หากสูดดมเข้าไปมาก ทำอันตรายต่อปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นที่มาของหลายโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งปอด ถุงลมปอดอุดตัน รวมถึงกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้รุนแรง

.

เช่นเดียวกับการจุดประทัด ตามความเชื่อว่าเสียงดัง ปังๆ รัวๆ ของประทัดช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากบ้าน ครอบครัว ทว่าหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า เสียงดังของประทัดแต่ละครั้ง มีระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล สูงกว่าค่ามาตรฐานที่ WHO หรือองค์การอนามัยโลก กำหนดว่า หูของเรารับความดังได้ไม่เกิน 85 เดซิเบล ดังนั้นโปรดฉุกคิดก่อนจุดด้วยว่า ก่อนที่สิ่งชั่วร้ายจะหนีไป หูของเราและคนในครอบครัวน่าจะเดือดร้อนก่อน

.

ดังกล่าวมา ไม่ได้ชวนให้คนศรัทธาในวัฒนธรรมตั้งแต่ดั้งเดิมเลิกล้มพิธีไหว้เจ้าแต่อย่างใด เพียงให้ตระหนักถึงการป้องกัน พร้อมกับลดการเผา ลดการจุดประทัด โดยเตรียมตัวให้ทุกคนอุดหูก่อนจุด ข้อสำคัญการอธิษฐานอย่างตั้งใจต่างหาก ถึงน่าจะทำให้คำขอพร คำอวยพรของทุกคนส่งสารไปถึงเทพเจ้า บรรพบุรุษ ที่พวกเรานับถือและดีสุขภาพทางจิตใจ

.

วันเที่ยว : วันชิลๆ ขอให้เป็นวิถีเที่ยวแบบ ECO

ถัดวันไหว้ คือวันเที่ยว ตรงกับจันทร์ที่ 22 มกราคม หลายครอบครัว หลายองค์กรซึ่งมีทั้งผู้ให้และผู้รับ “อั่งเปา” “แต๊ะเอีย” สามารถลดขยะได้ เช่นถ้ามีซองแดงของเก่าเก็บไว้ ก็นำมาใช้ซ้ำ ถ้าเหลือก็ให้เก็บไว้ใช้ในปีต่อไป และในยุคดิจิทัล ท่านเลือกแจกอั่งเปา แต๊ะเอีย ผ่านระบบออนไลน์ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

.

ส่วนการออกไปท่องเที่ยวแบบ ECO (Eco-Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หมายถึงการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติ และตามชุมชนต่างๆ ที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว

.

พอเราเข้าไปเที่ยวก็จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งได้เรียนรู้วิถีชีวิตกรีนของชุมชน เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนตามเทรนด์ของโลก ตัวเรามีส่วนร่วมง่ายๆ เพียงแค่วางแผนเตรียมตัวไว้ก่อน พอเข้าไปท่องเที่ยวชุมชน ควรมีถุงผ้า ใช้ถุงหูหิ้วแบบหนาที่ใช้ซ้ำได้ติดตัวไปด้วยเพื่อลดขยะพลาสติก และทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อสะดวกต่อการนำกลับไปรีไซเคิล

.

ถ้าทุกคนช่วยกัน และเตรียมตัว “จ่าย ไหว้ เที่ยว” ดังกล่าวมานี้ เราก็ฉลองตรุษจีนได้โดยไม่ส่งผลกระทบขนบธรรมเนียมแต่ดั้งเดิม และยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติของโลกทั้งใบ

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000005772