“SONITE DÉCOR” แบรนด์คราฟต์ผู้อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์รักษ์โลกดีไซน์ล้ำ นำวัตถุดิบธรรมชาติที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมมา Upcycle เป็นสินค้าสุดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าและยืดอายุการใช้งานให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ แล้วยังแก้ปัญหาจัดการขยะแบบยั่งยืน

.

ล่าสุดสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์จากวัสดุเปลือกข้าว หรือแกลบ กับ 2 คอลเลคชันดัง เป็นของใช้ ของตกแต่งบ้านดีไซน์เฉพาะตัว แถมใช้งานได้จริง

.

‘Chevaa Afternoon Tea’ ชุดน้ำชายามบ่ายสุดหรู เสิร์ฟในโรงแรมระดับห้าดาว และคอลเลคชันชุดจาน ‘Rice Husk Upcycled Dining Set’ ที่คว้ารางวัลด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับอาเซียนมาครองได้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผสมผสานกับความตั้งใจทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่น่าอยู่ มุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral ของโลกในอนาคต

.

‘Rice Husk Upcycled Dining Set ชุดจานจากวัสดุเปลือกข้าว

‘Chevaa Afternoon Tea’ ชุดน้ำชายามบ่ายสุดหรู เสิร์ฟในโรงแรมระดับห้าดาว

นิติพันธุ์ ดารกานนท์ ประธานบริษัท Sonite Innovative Surfaces พูดถึงจุดเริ่มต้นปั้นแบรนด์ Sonite เพื่อนำเสนอวัสดุปิดพื้นผิว สำหรับการตกแต่งต่างๆ ด้วยนวัตกรรมโมเสก ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นจากวัสดุโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ ซึ่งนอกจากจะมีดีไซน์ที่สวยงาม มีสีให้เลือกนับร้อยๆ แล้ว ยังมีขนาดและรูปทรงให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังสามารถสั่งทำแบบและลายที่ไม่เหมือนใครและมีเพียงชิ้นเดียวในโลกได้ด้วย และที่สำคัญคือมีคุณสมบัติที่แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา และไม่ลามไฟ ด้วยคุณภาพและความสวยงามที่โดดเด่น จึงทำให้โมเสกของ Sonite ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ

.

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ Sonite ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนา พร้อมมองหาความแตกต่าง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวอย่างเศษพลาสติกเหลือทิ้งจากการผลิตกระดุมและโมเสก มาชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นหินสังเคราะห์ ตามด้วยการแปลงกากกาแฟเหลือทิ้งในร้าน Starbucks ให้กลายมาเป็นโต๊ะ เคาน์เตอร์ ถาด และจานรองแก้ว จนกลายเป็นโจทย์ครั้งใหญ่ว่า จะชุบชีวิตเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างเศษแกลบหรือเปลือกข้าวในประเทศไทยที่มีจำนวนมหาศาลนี้ให้กลายเป็นสิ่งของสวยงามและใครๆ ก็อยากที่จะใช้ได้อย่างไร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรไทย

.

เรานำเปลือกข้าวที่รอเผาทำลายมารังสรรค์เป็น “Husk™” หรือก็คือวัสดุตกแต่งจากเศษขยะเหลือใช้ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งในแต่ละปีมีเศษวัสดุดังกล่าวมากถึง 43 ล้านตัน และส่วนมากจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ถูกฝังกลบโดยไม่เกิดคุณค่าหรือถูกกำจัดด้วยการเผาทำลาย ก่อเกิดเป็นต้นตอของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

.

การนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาผลิตเป็นผลงานคราฟต์จึงเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งยังถือเป็นการช่วยให้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเศษวัสดุดังกล่าว “ถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องหันมาดูแลโลกที่เรากำลังอาศัย และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้นเหตุ ด้วยการสนับสนุนผลงานคราฟต์รักษ์โลก เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างต่อๆไป”

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000006815