“เรารู้สึกว่านี่แหละคือทางของเรา เรารู้สึกว่าสนุกกับมัน”

จากความชอบในการเล่นเลโก้ สู่การเดินตามความฝันเพื่อเป็นนักวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์

บีบีซีไทย คุยกับ อ. ดร. เชน ตรีรัตนกุลชัย นักวิจัยหุ่นยนต์คนไทยหนึ่งในทีมวิจัยSoft Robotic แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยามหิดล

.

คำตอบที่ลงตัว สำหรับความคาดหวังของพ่อ-แม่

.
ดร. เชน เกิดในครอบครัวคนจีน พ่อแม่คาดหวังให้เขาเรียนจบสูง ๆ ออกมาเป็นหมอหรือวิศวะ ทว่าเขารู้ดีว่าตัวเองไม่ถนัดด้านการแพทย์ แต่เขาชอบเล่นตัวต่อเลโก้ตั้งแต่เด็ก ใฝ่ฝันที่จะเติบโตมาในสายงานวิศวะมากกว่า หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเลือกที่จะสอบเข้าในคณะวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล

.

วิศวกรรมชีวการแพทย์ คืออะไร

.
หลายคนอาจสงสัยว่าวิศวกรรมชีวการแพทย์คืออะไร เชน อธิบายว่าเป็นการหลอมรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทางด้านการแพทย์ เพื่อนำมาสู่การแก้โจทย์ต่าง ๆ ในทางการแพทย์ เป็นส่วนเสริมทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

.

โดยปีแรกจะเป็นการเริ่มเรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ พอปีสูงขึ้นก็จะมีการเสริมด้านวิศวกรรม รวมไปถึงด้านการแพทย์อย่างสรีระวิทยาและกายวิภาค ทำให้เขาได้คลุกคลีกับ “อาจารย์ใหญ่” หรือ ศพที่ถูกบริจาคมาเพื่อการศึกษา เหมือนกับคนเรียนแพทย์ พยาบาล

.

“เรารู้สึกว่านี่แหละคือทางของเรา เรารู้สึกว่าสนุกกับมัน” เชน บอกเล่าถึงความสุขในการเรียนคณะนี้ โดยศาสตร์ที่เชนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือด้าน Surgery Robot หรือ หุ่นยนต์ผ่าตัด

.

หนึ่งในทีมวิจัย Soft Robotic ที่ลอนดอน

.
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เชน ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้มาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2017 ที่นี่เองทำให้เขาได้รับโอกาสในการทำวิจัย Soft Robotic ที่ชื่อว่า Robogast

.

เชน อธิบายว่า Soft Robotic คือหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามสภาพแวดล้อม ทำให้มันสามารถเข้าไปภายในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อนได้ รวมถึงมีลักษณะนุ่ม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดในคนไข้ได้ แตกต่างจากหุ่นยนต์ผ่าตัดในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มีลักษณะแข็ง

.

ถึงแม้ตอนนี้ Robogast ของเชนจะอยู่ในขั้นเริ่มต้นพัฒนา ทว่าเขาก็คาดหวังว่าสิ่งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นความรู้ ที่อาจมีใครบ้างคนมาหยิบไปใช้ และนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงได้

.

Robogast หุ่นยนต์ตัวต้นแบบที่เชนกำลังพัฒนาอยู่

ฝันที่จะทำหุ่นยนต์ผ่าตัดฝีมือคนไทย

.
ปัจจุบันหลังจบการศึกษาปริญญาเอก จากอิมพีเรียล คอลเลจ เชน เดินทางกลับมาทำงานในไทย ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งความรู้ที่เขามีให้กับเด็กรุ่นใหม่

.

เขาคาดหวังที่จะทำให้วงการนักวิจัยหุ่นยนต์ในไทยพัฒนาขึ้น พร้อมกับความหวังสูงสุดที่จะทำให้ไทยได้มีหุ่นยนต์ผ่าตัดฝีมือคนไทยเป็นตัวแรก

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c72r9q0p3q3o