(จากซ้าย) นายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director และนายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด เอสซีจี

เอสซีจี รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร มุ่งลดต้นทุน แก้ปัญหาพลังงานและค่าไฟพุ่งสูง หนุนเศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัว พร้อมรองรับเมกกะเทรนด์รักษ์โลก ปักธง “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชู 3 จุดเด่นขยายธุรกิจ มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้านิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และบริษัทขนาดใหญ่ ตั้งเป้าโต 4 เท่าในปีนี้ พร้อมเดินหน้าพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

.

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวถึงแนวทางขยายธุรกิจพลังงานสะอาดว่า จากความสำเร็จของเอสซีจีในการลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตท่ามกลางวิกฤตต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้าพุ่งสูง ประกอบกับความเชี่ยวชาญ ทำให้สามารถต่อ
ยอดเป็น “ธุรกิจให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร” โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่อง แต่ต้องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล โดยมี 3 จุดเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

.

Solar Robot Cleaning (หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ และ Drone Inspection (โดรนสำรวจแผงโซลาร์)

ข้อแรก “ซื้อ-ขายไฟ Smart Grid” สร้างความคุ้มค่า เพราะการลดต้นทุนพลังงานจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า และสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ด้วยการใช้นวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

.

ข้อสอง “คู่คิดครบวงจร” อำนวยความสะดวก ด้วยทีมวิศวกรมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังติดตั้งแผงโซลาร์ตลอดอายุสัญญา อาทิ การขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์ การคำนวณต้นทุนกับกำลังการผลิตที่เหมาะสม และการซ่อมบำรุง

.

ข้อสาม “ดูแลทุกขั้นตอนด้วยโรบอท” สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning)

.

สำหรับโอกาสการขยายธุรกิจในต่างประเทศมองว่า ประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนามมีความเป็นไปได้อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ อาทิ นโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐ เป็นสำคัญ นอกเหนือจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

.

ระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจริยะ Smart Grid ที่กลุ่มบริษัท สหยูเนี่ยน บางปะกง

นายอรรถพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีฐานลูกค้าหลักซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง โดยสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี มีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์รวมกว่า 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตเพื่อใช้ในกลุ่มเอสซีจีประมาณ 200 เมกกะวัตต์ และกลุ่มลูกค้า 30 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของลูกค้าเป็น 4 เท่าภายในปี 2566 ปัจจุบันมีลูกค้าที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และกำลังจะดำเนินการ เช่น โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการจัดเตรียมงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

.

เม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet)

ด้านนายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวถึงแนวทางธุรกิจพลังงานทางเลือกว่า เพื่อลดการใช้พลังงานที่มีราคาพุ่งสูง ประกอบกับประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตรมากมาย เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี หากกำจัดด้วยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหมอก ควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อน เอสซีจีจึงนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

.

ที่ผ่านมา เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ซึ่งในปี 2565 เอสซีจีสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และเร่งพัฒนาชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งเม็ดพลังงานชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ด้านการใช้งาน และค่าพลังงาน เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคต

.

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจพลังงานสะอาดของเอสซีจี ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวลจะมีศักยภาพสูง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและความสะดวกของลูกค้าตามเมกกะเทรนด์รักษ์โลก พร้อมทั้งแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจีและเครือข่ายผู้ประกอบการต่างๆ จะมีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเป้าหมายของประเทศไทยและของโลก

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000012301