Mary Hagedorn and Taronga Conservation Society scientist Jonathon Daly observe coral at AIMS in Townsville, Australia December 12, 2022.
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการทดสอบวิธีการใหม่ในการแช่แข็งและเก็บตัวอ่อนของปะการัง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาสมุทรบนโลกนี้เอาไว้ได้แล้ว
.
แนวปะการังนั้นก่อตัวขึ้นมาจากการเติบโตของปะการัง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรทั้งหมด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายมาเป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของแนวปะการังต่าง ๆ
.
โครงการวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียได้ทดลองแช่แข็งและเก็บตัวอ่อนของปะการังเพื่อใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศในภายหลัง โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า "ไครโอเมช" (cryomesh)
.
ตามปกติแล้วปะการังจะถูกแช่แข็งด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่าไครโอเจนิกส์ ซึ่งเป็นวิธีการที่เก็บสัตว์ที่อายุน้อยเอาไว้จนกว่าน้ำแข็งจะละลายและนำพวกมันไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันกระบวนการนี้ต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทครวมถึงเลเซอร์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งทีมวิจัยในออสเตรเลียกล่าวว่า ไครโอเมชสามารถเก็บรักษาปะการังได้ดีกว่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก
.
นักวิทยาศาสตร์ใช้ไครโอเมชในการแช่แข็งตัวอ่อนของปะการัง Great Barrier Reef ที่สถาบัน Australian Institute of Marine Sciences หรือ AIMS โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บปะการังในระยะสืบพันธุ์ประจำปีที่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ
.
Mary Hagedorn works with modern-mesh technology in liquid nitrogen at AIMS in Townsville, Australia December 14, 2022. (REUTERS/Jill Gralow)
แมรี ฮาเกดอร์น (Mary Hagedorn) นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนและสถาบันชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ ได้พูดคุยกับรอยเตอร์จากห้องปฏิบัติการของสถาบัน AIMS โดยอธิบายว่า หากคนเราสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังได้ เราก็จะมีเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูแนวปะการังได้อย่างแท้จริงในอนาคต และระบุว่า “เทคโนโลยีสำหรับแนวปะการังในอนาคต คือ ตัวพลิกเกมอย่างแท้จริง”
.
ก่อนหน้านี้ มีการทดสอบไครโอเมชกับปะการังฮาวายทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งการทดสอบกับประการังขนาดใหญ่กว่านั้นประสบความล้มเหลวไป และในปัจจุบัน นักวิจัยกำลังทำการทดสอบกับแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมอยู่
.
สำหรับการทดสอบดังกล่าวนี้ มีนักวิทยาศาสตร์จากหลายองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ สถาบัน AIMS สวนสัตว์แห่งชาติและสถาบันชีววิทยาการอนุรักษ์สมิธโซเนียน มูลนิธิ Great Barrier Reef และสมาคม Taronga Conservation Society ของออสเตรเลีย โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูและปรับตัวของแนวปะการัง (Reef Restoration and Adaptation Program)
.
ทั้งนี้ แนวปะการัง Great Barrier Reef ประสบปัญหาภาวะฟอกขาวถึงสี่ครั้งในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการฟอกขาวครั้งแรกในช่วงที่เกิดสภาพอากาศลานีญา ที่มักจะทำให้อุณหภูมิเย็นลง
.
This May 2016 photo provided by NOAA shows bleaching and some dead coral around Jarvis Island, which is part of the U.S. Pacific Remote Marine National Monument.
การฟอกขาวของปะการังจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภาวะอุณหภูมิปรับขึ้นหรือลดลงแบบสุดโต่งมาผนวกกับแสงแดดและบังคับให้ปะการังปล่อยสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของพวกมันออก ส่งผลให้ปะการังสูญเสียสีและเปลี่ยนเป็นสีขาวจนทำให้ปะการังอ่อนแอลงอย่างมากและตายลงในที่สุด
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/scientists-freeze-great-barrier-reef-coral/6894401.html