จากกระแสในแวดวงโหราศาสตร์ ที่ได้มีการพูดถึง ดาวเสาร์ย้ายราศีจากราศีมีนสู่ราศีกุมภ์ ทำให้ได้มีการพยากรณ์ดวงชะตาไปต่างๆ นานา แต่สำหรับในด้านดาราศาสตร์ ดาวเสาร์ย้ายราศีจะเกิดผลอะไร ท้องฟ้าจะเป็นอย่างไร และทำไมถึงย้ายราศี Science MGROnline จึงขออธิบายให้ได้รู้กัน เมื่อพูดถึง “ดาวเสาร์” ใครก็ต่างคุ้นชินกับดวงดาวดวงใหญ่ ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากมีวงแหวนล้อมรอบดวงดาวอย่างชัดเจน และยังมีเป็นดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากดาวพฤหัสบดี อีกทั้งยังมีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดเป็นอันดับสองด้วยเช่นกัน

.

ความหายการย้ายราศีในด้านดาราศาสตร์นั้น ถือได้ว่าดาวเสาร์ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ตามหลักวงโคจร จากข้อมูลในปัจจุบันที่เราได้รู้ว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ของระบบสุริยะ มีดาวบริวารทั้งหมด 8 ดวง ไล่จากระยะที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ ดาวพุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสฯ เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน ซึ่งเมื่ออดีตรวมถึง ดาวพลูโต แต่ในปัจจุบันได้ลดสถานะลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว

.

ดาวเคราะห์ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการโคจร 1 รอบของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างเช่น “โลก” ของเราที่ใช้เวลาโคจรรอบอาทิตย์ 1 ปี ตาม “สุริยวิถี” แถบสมมติบนท้องฟ้าที่เป็นระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง และระนาบสุริยวิถีนี้ จะมีกลุ่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม เป็นฉากหลัง ทำให้ท้องฟ้าในแต่ละเดือนเมื่อมองจากโลกจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกัน เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ตามระนาบวงโคจร

.

เริ่มตั้งแต่ 1. กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) 2. กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) 3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) 4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) 5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์) 6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์) 7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล) 8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก) 9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร) 11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ 12. กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน) กลุ่มดาวฉากหลังสุดท้าย ก่อนที่จะครบวงโคจร และเริ่มต้นการโคจรรอบใหม่อีกครั้งที่กลุ่มดาวแกะ

.

“ดาวเสาร์” ก็เช่นกัน หลายๆ คนรู้ว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่อันดับสองในระบบสุริยะ และใน 1 รอบการโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้น ใช้เวลาประมาณ 29 ปี จึงทำให้ในทุกๆ สองปีครึ่ง เมื่อมองท้องฟ้าในช่วงเวลากลางคืนจากพื้นโลก จะเห็นเสาร์มีพื้นหลังเป็นกลุ่มดาวจักรราศีที่แตกต่างกันออกไป และในปีนี้ ดาวเสาร์ได้โคจรตามระนาบสุริยวิถี มาถึงระนาบที่มี “กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ” (aquarius) หรือ ราศีกุมภ์ เป็นฉากหลัง ผลคือทำให้เมื่อเรามองบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน เราจะเห็นดาวเสาร์พร้อมๆ กับกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ไปอีกประมาณสองปีครึ่ง นับจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 นี้

.

การแบ่งเส้นสุริยะวิถีออกเป็นจักรราศี มีเริ่มต้นในยุคบาบิโลเนีย ช่วงครึ่งแรกของ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้คนบนโลกเมื่อครั้งอดีต สามารถใช้ข้อมูลการโคจรของดวงดาวนี้ บันทึกเรื่องราวระบุวัน – เวลาต่างๆ ได้

.

ในปัจจุบัน ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 6 เป็นดาวเคราะห์ใหญ่ขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของระบบสุริยะ ดาวบริวารมากถึง 83 ดวง โดยดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสคือ “ไททัน” เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในระบบสุริยะ

.

สำหรับความหมายของ กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ (aquarius) หรือ ราศีกุมภ์ เป็นกลุ่มดาวใหญ่แต่ไม่สะดุดตา อยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มดาวม้า ในระหว่างปี พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2508 การจะหากลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำหาได้ง่ายมากเพราะใน ระหว่าง 2 ปีนี้ ดาวเสาร์ปรากฏโคจรมาอยู่ในกลุ่มดาวนี้กลุ่มดาวนี้ เป็นกลุ่มดาวที่ มีประวัติเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง คนโบราณเขาเห็นเป็นรูปคนกำลังเทน้ำออกจากหม้อ ตามนิยายดาวของกรีกกล่าวว่า เทพเจ้า Zeus กำลังเทน้ำ ซึ่งจะตกเป็นฝนมายัง โลก ฉะนั้นกลุ่มดาวกลุ่มนี้จึงเป็นเครื่องหมายแห่งฤดูฝน ส่วนชาวอียิปต์โบราณ กล่าวว่า อุทกภัยแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ เกิดจากคนเทหม้อน้ำในกลุ่มดาวนี้เทน้ำลงไปบนแม่น้ำไนล์ ในกลุ่มที่มีความสว่างปรากฏ สว่างกว่า 2.9 เลย คนโบราณ เห็นเป็นรูปคนแบกหม้อน้ำ กำลังเทน้ำลงในแม่น้ำ Fluvius Aquarii ซึ่งหมายถึง "the River of Aquarius" ซึ่งสายน้ำจะไหล ผ่านกลุ่มดาวปลาทางใต้ ที่มีดาวฤกษ์สุกสว่างคือ ดาวโฟมาลออท ขึ้นไปสูงสุดกลางท้องฟ้า ประมาณเที่ยงคืนของปลายเดือนสิงหาคม ต้นเดือนกันยายน

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000018623