สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเหลือทน จนต้องมีคนเป็นลม ป่วยล้มหมอนนอนเสื่อ หรือถึงกับเสียชีวิตอย่างฉับพลันเนื่องจากโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก (heatstroke) มีแนวโน้มจะพบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่หลายภูมิภาคของโลกเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ครั้งรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
.
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจเรื่องผลกระทบจากอากาศร้อนที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนเรามากขึ้น หลายทีมวิจัยได้ตั้งคำถามว่า ขีดจำกัดสูงสุดของมนุษย์ในการทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นแฉะขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น แท้จริงควรอยู่ที่อุณหภูมิเท่าใดและที่อัตราความชื้นระดับไหนกันแน่
.
ดร.คอลิน เรย์มอนด์ นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับดันไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ผลการศึกษาในอดีตได้ชี้ถึงระดับความทนทานของคนเราต่ออากาศร้อนชื้น โดยระบุว่าหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงสามารถทนต่ออุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ขณะที่มีความชื้นในบรรยากาศ 100% ได้สูงสุดไม่เกิน 6 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะต้องเสียชีวิต
.
สภาพอากาศแบบดังกล่าว ซึ่งมีค่าเทียบเท่ากับภาวะที่อุณหภูมิสูง 46 องศาเซลเซียส ในบรรยากาศที่มีความชื้น 50% สามารถพบได้บ่อยในแถบเอเชียใต้และอ่าวเปอร์เซีย โดยในอดีตเคยมีอุณหภูมิและความชื้นขึ้นเหนือระดับวิกฤตดังกล่าวมาแล้วเพียงสิบกว่าครั้ง แต่ละครั้งกินเวลานานเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้เหตุโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเป็นจำนวนมาก ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก
.
ระดับอุณหภูมิและความชื้นวิกฤตข้างต้น จัดว่าเป็น “อุณหภูมิกระเปาะเปียก” (wet bulb temperature) ซึ่งหมายถึงระดับความร้อนที่ปรอทหรือเทอร์โมมิเตอร์วัดได้ เมื่อนำวัสดุชุบน้ำมาห่อหุ้มกระเปาะของมันไว้ แล้วปล่อยให้มีลมพัดหรืออากาศไหลผ่านกระเปาะเปียกนั้น ซึ่งก็คือการวัดอุณหภูมิในสภาพความชื้นสูง โดยที่มนุษย์จะระบายความร้อนผ่านต่อมเหงื่อในสภาพอากาศดังกล่าวได้ยากนั่นเอง
.
ดร.เรย์มอนด์บอกว่า ระดับความทนทานของมนุษย์ต่อสภาพอากาศที่ร้อนชื้นอย่างรุนแรง นอกจากจะขึ้นอยู่กับระดับของอุณหภูมิกระเปาะเปียกแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่นอายุ ความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนสามารถหาหนทางหลบร้อนเพื่อเอาชีวิตรอดได้
.
แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกรวนซึ่งทำให้สภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ได้นำไปสู่ปัญหาสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างสุดขั้วแผ่ขยายลุกลาม โดยเริ่มคืบคลานเข้าไปสู่พื้นที่ซีกโลกเหนือที่เคยมีอากาศหนาวเย็นและแห้งมากขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตไปถึงกว่า 61,000 คน จากคลื่นความร้อนและความชื้นที่ถาโถมเข้าใส่ภูมิภาคยุโรป
.
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศยืนยันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2023) มีความร้อนแรงทำลายสถิติในระดับสูงสุด ยิ่งกว่าข้อมูลครั้งใด ๆ ที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับอุณหภูมิกระเปาะเปียกระดับวิกฤตที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์นั้น จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโลกร้อนขึ้นไปอีก จนมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยแตะถึงระดับที่สูงกว่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 2.5 องศาเซลเซียส
.
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ได้ทำการทดลองให้อาสาสมัครหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง นั่งอยู่ในห้องปรับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นคอยตรวจวัดอุณหภูมิภายในแกนกลางร่างกายของอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง
.
ผลการศึกษาข้างต้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า อุณหภูมิภายในแกนกลางร่างกายของอาสาสมัคร จะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดอันตรายที่ไม่อาจหยุดยั้งได้อีกต่อไป ก็ต่อเมื่อเขาและเธอต้องทนอยู่กับอุณหภูมิกระเปาะเปียกของสิ่งแวดล้อมที่ 30.6 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-7 ชั่วโมงติดต่อกัน ซึ่งเป็นระดับความทนทานที่ต่ำกว่าผลวิจัยก่อนหน้านี้มาก
.
พญ.อาเยชา คาดีร์ กุมารแพทย์ชาวอังกฤษซึ่งเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) แสดงความกังวลต่อข้อมูลข้างต้นว่า สภาพอากาศที่ร้อนชื้นผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อผู้อ่อนแอเปราะบางและเด็กเล็กมากที่สุด เนื่องจากเด็กยังมีสภาพร่างกายที่ปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีนัก ส่วนคนชรานั้นมีต่อมเหงื่อลดลงมากจนไม่อาจระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 90% ต้องเสียชีวิตลงในเหตุคลื่นความร้อนโจมตียุโรปเมื่อปีที่แล้ว
.
อย่างไรก็ตาม ดร.เรย์มอนด์ กล่าวสรุปว่า “ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ชี้ขาดว่า ใครจะสามารถอยู่รอดได้ในสภาพอากาศร้อนชื้นสุดขั้ว ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นประจำในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง”
.
“คนจนนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ ต้องทำงานกลางแจ้ง และมักดื่มน้ำน้อยเพราะไม่มีห้องสุขาให้ใช้ในบ้าน พวกเขาย่อมเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด"
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4n0nxpwwzgo