แคนาดาผุดไอเดียพันธุ์วัวรักษ์โลก ด้วยลักษณะพิเศษในการขับก๊าซมีเทนต่ำกว่าวัวโดยทั่วไป ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาปัญหาการปล่อยก๊าซที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ตามรายงานของรอยเตอร์
.
ลูกวัวจากฟาร์มของเกษตรกรชาวแคนาดา เบน โลวิต ที่จะเกิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า จะเป็นวัวฝูงแรกของโลกที่เกิดมาด้วยภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือ การเรอหรือขับลมที่ปล่อยก๊าซมีเทนต่ำกว่าที่เคย
.
วัวรักษ์โลกรุ่นนี้ มาจากการผสมเทียมวัวเพศเมียที่ไม่เคยมีลูก 107 ตัวกับน้ำเชื้อของวัวตัวผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมในการปล่อยก๊าซมีเทนในระดับต่ำ
.
ทั้งนี้ วัวมีบทบาทต่อภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 14.5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้วโลก โดยวัวนมแคนาดาปล่อยก๊าซมีเทนราว 250-750 กรัมต่อวัน อ้างอิงจากข้อมูลของคริสติน แบส์ อาจารย์จาก University of Guelph
.
ในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ ต่างเห็นว่าพันธุ์วัวนมรุ่นใหม่ที่ปล่อยก๊าซมีเทนลดลงอาจช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ เนื่องจาก “การเรอ” เป็นหนึ่งในต้นตอแห่งการปล่อยก๊าซมีเทนในวัว
.
ทางบริษัทซีเม็กซ์ (Semex) บริษัทด้านพันธุกรรมที่ขายน้ำเชื้อวัวตัวผู้สำหรับการผสมเทียมวัวรักษ์โลก เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ลักษณะดังกล่าวของวัวตัวผู้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในการปศุสัตว์แคนาดาได้ราว 1.5% ต่อปี และสูงสุดถึง 20-30% ภายในปี 2050 และทางบริษัทเริ่มทำการตลาดใน 80 ประเทศทั่วโลกแล้ว ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และสโลวาเกียแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรแคนาดา ระบุในอีเมลว่ายังไม่ได้มีการประเมินเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทนจากวัวอย่างเป็นระบบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านอุตสาหกรรมนมวัวในแคนาดายังไม่เห็นด้วยกับแนวทางวัวปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ เพราะมองว่าอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหารในวัว
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/the-climate-friendly-cows-bred-to-belch-less-methane/7226540.html