เมื่อปี 1936 นักเขียนชาวอเมริกันชื่อว่า โลเวลล์ โทมัส ได้ระบุในคำนิยมที่เขาเขียนให้กับหนังสือเล่มดัง “วิธีชนะมิตรและจูงใจคน” (How to Win Friends and Influence People) ของเดล คาร์เนกี เอาไว้ดังนี้
.
“ศาสตราจารย์วิลเลียม เจมส์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เป็นเสมือนบิดาของแวดวงวิชาการจิตวิทยาอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า คนทั่วไปสามารถจะพัฒนาระดับสติปัญญาของตนเองขึ้นมาได้เพียง 10% ของศักยภาพที่แฝงอยู่ทั้งหมด”
.
นับแต่นั้นมา คำกล่าวอ้างข้างต้นได้กลายเป็นเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่บอกต่อกันแพร่หลาย จนติดปากผู้คนทั่วโลกที่พากันส่งต่อความเชื่อดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้มีผู้กล่าวอ้างว่า คนเราใช้สมองอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยใช้งานเพียงแค่ 10% ของทั้งหมดเท่านั้น แม้แต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดบางเรื่องก็นำแนวคิดนี้ไปเป็นพล็อตหรือโครงเรื่องหลักของภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ
.
แม้เราจะไม่ทราบได้ว่า บิดาแห่งวงการจิตวิทยาอเมริกันกล่าวคำพูดนี้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นความจริงแน่นอนก็คือ การกล่าวอ้างว่าคนเราใช้งานสมองเพียง 10% ในแต่ละวันนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิงในทางวิทยาศาสตร์
.
ผศ.ดร.เอริน เฮชต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงวิวัฒนาการ (evolutionary neuroscience) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวชี้แจงกับเว็บไซต์ Live Science ว่า “เราใช้งานสมองทั้งหมดและใช้ทุกส่วนที่มีอยู่เสมอ”
.
“ที่ว่ากันว่าเราใช้สมองเพียง 10% นั้น เป็นคำกล่าวอ้างที่คลุมเครือเพราะไม่รู้ว่า 10% ของอะไรกันแน่ จะหมายถึง 10% ของพลังงานจากเมตาบอลิซึม, 10% ของความเคลื่อนไหวทางสัญญาณไฟฟ้าทั้งหมด, หรือ 10% ของระดับออกซิเจนในเลือดก็ไม่ทราบได้”
.
“เวลาที่นักศึกษาถามถึงเรื่องนี้ในชั้นเรียน ฉันมักจะตอบว่าคนที่ใช้งานสมองเพียง 10% ของทั้งหมด ก็คือคนที่หมดสติและใช้เครื่องช่วยหายใจพยุงชีพอยู่เท่านั้น” ผศ.ดร.เฮชต์ กล่าว
.
ผศ.ดร.เฮชต์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า สมองก็เหมือนกับหัวใจที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้แต่ตอนที่เรานอนหลับ เซลล์ประสาทในสมองนั้นก็เช่นกัน ต้องมีการทำงานโดยยิงกระแสประสาทจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ โดยร่างกายจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดให้เซลล์ประสาทต้องมีความเคลื่อนไหวทางไฟฟ้าในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย แม้แต่ในตอนที่เราหลับสนิท เพื่อบำรุงรักษาเซลล์ประสาทให้คงสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ต่อไป
.
ดร.จูลี ฟราตันโตนี นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive neuroscientist) จากศูนย์เพื่อสุขภาพสมองแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตดัลลัสของสหรัฐฯ บอกว่าความเชื่อเรื่องมนุษย์ใช้งานสมองเพียง 10% นั้น “เป็นมายาคติที่น่าขัน”
.
“แม้สมองจะแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แยกกันอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติสมองจะทำงานผ่านเครือข่ายหลายรูปแบบ ที่เชื่อมโยงประสานสมองหลายส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่นเครือข่ายการทำงานอัตโนมัติเมื่อร่างกายพักผ่อน (Default Mode Network – DMN) ที่ช่วยประมวลผลเกี่ยวกับความคิดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย” ดร.ฟราตันโตนี กล่าวอธิบาย
.
แต่ถ้าเราอยากทราบว่า มีการใช้งานสมองมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา วิทยาการปัจจุบันสามารถจะเผยให้รู้ได้ผ่านการสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) ซึ่งสามารถแสดงภาพความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ขณะที่มีสิ่งกระตุ้นเร้า
.
“สมองส่วนที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก คือส่วนที่กำลังมีการเผาผลาญใช้พลังงานมากกว่าเพื่อน เนื่องจากกำลังทำหน้าที่ประมวลผลเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังจดจ่อใช้ความคิดอยู่ในตอนนั้น” ผศ.ดร.เฮชต์ กล่าว
.
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.เฮชต์ บอกด้วยว่า สมองบางส่วนจะใช้พลังงานและทรัพยากรของร่างกายลดลง หากเราเกิดทักษะความชำนาญบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสมองส่วนนั้น
.
สมองส่วนที่เราใช้บ่อยจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเซลล์ประสาทแผ่ขยายตัวออกไปเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งมีการสร้างหลอดเลือดในบริเวณดังกล่าวเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานที่มากเป็นพิเศษ ส่งผลให้การทำงานของสมองส่วนดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง จนอาจดูเหมือนว่าไม่ค่อยเคลื่อนไหวทำงานมากนักก็เป็นได้
.
ในทัศนะของ ผศ.ดร.เฮชต์ แล้ว เธอมองว่าคำกล่าวอ้างเรื่องคนเราใช้งานสมองได้เพียง 10% นั้น นอกจากจะไม่ถูกต้องในทางชีววิทยาแล้ว ยังเป็นแนวคิดที่ขาดความเข้าใจถึงธรรมชาติการทำงานของสมองคนเราอย่างมากอีกด้วย
.
“ผู้ป่วยหลายคนที่สมองบางส่วนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือโรคหลอดเลือดสมองก็ตาม สามารถจะฟื้นฟูความสามารถในทักษะต่าง ๆ ให้กลับคืนมาได้ ทั้งที่สูญเสียการทำงานของสมองบางส่วนไปอย่างถาวร เนื่องจากสมองส่วนอื่นที่ยังเหลือจะปรับตัวเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าวแทน”
.
“สมองนั้นมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทได้เสมอ ทำให้เราสามารถใช้งานมันด้วยประสิทธิภาพเต็ม 100% ได้เหมือนเดิม ด้วยองค์ประกอบของเครือข่ายภายในสมองที่เปลี่ยนแปลงไป” ผศ.ดร.เฮชต์ กล่าวสรุป
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cv2kpvz80m0o