วันนี้โลกเราก้าวข้าม “ภาวะโลกร้อน” เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” จากการที่อุณหภูมิไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศไทยและโลกไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง

.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มีความพร้อมทางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสาขาต่างๆ รวมทั้งมีคณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อม ในการนำความรู้มามีส่วนร่วมแก้ปัญหาสถานการณ์ภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต (Living Plant Museum) ณ อาคารเรือนกระจก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช พัทยา คุณนันทวรรณชยา ภาจิตประพันธ์ ประธานบริษัท เฮิร์บฟอร์ยู จำกัด บริษัท เวิร์ดกรีน พลัส จำกัด และ คุณธนาธิป ศิษย์ประเสริฐ ผู้แทนบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการครั้งนี้

.

นิทรรศการพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum เป็นนิทรรศการถาวรในอาคารเรือนกระจก (Glass house) ข้างอาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากจะเป็นสถานที่รวบรวมพรรณไม้สำคัญทางด้านพฤกษศาสตร์แล้ว ยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชสาขาต่างๆ กับประชาชนที่มีประสบการณ์และใกล้ชิดธรรมชาติในแต่ละท้องที่ มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและส่งต่อองค์ความรู้ และความเข้าใจไปยังคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก
เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภายในงานมีการนำ “นวัตกรรมกล้าไม้อัตรารอดสูง” โดยการใช้เชื้อไมคอร์ไรซ่านำมาเพาะร่วมกับต้นกล้า

.

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศเจตนารมณ์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2040 และมีเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เราจึงต้องผลักดันให้ประชาคมจุฬาฯ มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังแปรปรวน โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือการนำงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ มาสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้พร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์และภาคีเครือข่ายของเรากำลังเร่งขับเคลื่อนบ่มเพาะองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันรับมือกับสภาวะโลกเดือดตามที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ ซึ่งเราได้รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนี้ไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum ที่นับจากนี้ต่อไปจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย เป็น Living Lab ให้เราได้รู้เท่าทันโลก เพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และหาทางออกที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกได้ต่อไป”

.

รศ.ดร.สีหนาท ประสงค์สุข หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิตแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เราใช้จัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตจุฬาฯ การวิจัยพืชในระบบควบคุมอุณหภูมิ (evaporative cooling system) และจัดแสดงนิทรรศการถาวรนําเสนอข้อมูลความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชในรูปแบบที่พืชยังมีชีวิตมีพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ตํ่ากว่า 200 ชนิด ภายในอาคารเรือนกระจก พื้นที่ 464 ตารางเมตร จัดแสดง 6 รูปแบบ ประกอบด้วย นิทรรศการความหลากหลายของพืชในป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน นิทรรศการพืชทนแล้ง นิทรรศการพืชน้ำ นิทรรศการพืชกลุ่มเทอริโดไฟต์ นิทรรศการกลุ่มพืชเมล็ดเปลือย และนิทรรศการวิวัฒนาการของพืชดอก โดยเรามุ่งหวังตั้งใจให้ องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเกิดขึ้นที่นี่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ล่าสุดเรามีนวัตกรรมกล้าไม้อัตรารอดสูง พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีหัวเชื้อราไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal Inoculum Technology) เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.จิตรตรา เพียภูเขียว อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์

.

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาด้านราไมคอร์ไรซามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยเริ่มจากวิจัยความหลากหลายของเห็ดราในพื้นที่ป่าน่าน นำมาต่อยอดผลิตหัวเชื้อราไมคอร์ไรซาผสมในดินปลูกกล้าไม้พื้นถิ่นวงศ์ยาง ช่วยเพิ่มอัตราการรอดให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้ในสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยจุฬาฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนและขยายผลไปยังพื้นที่ป่าชุมชนจังหวัดสระบุรีกว่า 3,000 ไร่ และในพื้นที่อีก 7 จังหวัด นอกจากนี้ เมื่อกล้าไม้อัตรารอดสูงเติบโตเป็นไม้ใหญ่แล้วยังทำให้เกิดเห็ดป่าที่รับประทานได้ผุดขึ้นอีกหลายชนิด อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดไคล เห็ดน้ำหมากก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจให้คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าชุมชนไว้อย่างยั่งยืน”

.

นอกจากพิธีเปิดนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยังจัดกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน “โครงการปลูกต้นกล้าสู้โลกเดือด” ด้วยการจัดเตรียมต้นกล้าไม้ยางนาจากผลงานวิจัยและพัฒนากล้าไม้ที่มีอัตราการรอดสูงด้วยเทคโนโลยีเชื้อไมคอร์ไรซ่า เพื่อนำไปปลูกในชุมชนจำนวน 107 ต้น รวมทั้งยังจัดกิจกรรมปลูก “ต้นราชพฤกษ์อวกาศ” ในโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง

.

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชวนเปิดยุทธการ สู้โลกเดือด ให้โลกได้ไปต่อ โดยร่วมบริจาคสมทบทุนดำเนินงาน “พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต” (Living Plant Museum) และสนับสนุนการเรียนการสอนของภาควิชาพฤกษศาสตร์ ตามกำลังศรัทธาโดยยอดบริจาคทุก 1,000 บาท จะได้รับ “ต้นกล้าสู้โลกเดือด” 1 ต้น จากผลงานวิจัยและพัฒนากล้าไม้อัตรารอดสูงด้วย Mycorrhizal Inoculum Technology พิเศษสำหรับผู้บริจาค 1,000 ท่านแรก รับกระเป๋ารักษ์โลกสู้โลกเดือด 1 ใบ ผ่านสแกนคิวอาร์โค้ด หรือ https://forms.gle/WoreutYF8FLuQC3k9

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000087683