หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องเข้าทำงานกะกลางคืน หรือต้องเร่งโหมงานแบบโต้รุ่งเพื่อให้เสร็จทันเวลาภายในคืนเดียว คุณอาจสงสัยว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยให้เราสดชื่นตื่นตัว รวมทั้งสมองแจ่มใสไม่รู้สึกอ่อนล้าเหนื่อยเพลียจนเกินไปนัก
.
คำตอบหนึ่งที่นอกเหนือไปจากการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือการใช้สารกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่การนอนแบบงีบหลับเอาแรงช่วงสั้น ๆ ระหว่างค่ำคืนอันยาวนาน ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูกำลังกายและพลังสมองได้เป็นอย่างดี
.
แต่เราควรจะงีบพักผ่อนนานแค่ไหนและอย่างไร จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานล่วงเวลาได้ดีที่สุด ? เรื่องนี้ ดร.ซานาเอะ โอริยามะ นักวิทยาศาสตร์สาขาชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมาของญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ทบทวนผลการทดลองจากงานวิจัยเบื้องต้น 3 ชิ้น จนได้ “สูตรงีบหลับ” ที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานกลางคืนออกมา
.
บทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ได้พิจารณาเปรียบเทียบผลการทดลอง 3 ครั้ง ที่ทำในอาสาสมัคร 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12-15 คน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ต้องทำงานนานติดต่อกันถึง 16 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ไปจนถึง 9.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
.
อาสาสมัครกลุ่มแรกจะได้รับอนุญาตให้พักงีบหลับยาว ๆ ได้หนึ่งครั้ง คิดเป็นเวลาทั้งสิ้น 120 นาที ในช่วงสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน แต่อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับอนุญาตให้พักงีบหลับได้สองครั้ง โดยให้นอน 90 นาที ในช่วงสี่ทุ่มครึ่งถึงเที่ยงคืน และงีบหลับสั้น ๆ 30 นาทีอีกครั้ง ในช่วงตีสองครึ่งถึงตีสาม ส่วนอาสาสมัครกลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มควบคุม จะไม่มีโอกาสได้งีบหลับเลยตลอดทั้งคืน
.
ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้งีบหลับสองครั้ง โดยคิดเป็นเวลานาน 90 นาที และ 30 นาที ตามลำดับ มีความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานโต้รุ่งน้อยที่สุด ทั้งยังรู้สึกว่าสมองแจ่มใสใช้ความคิดได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้นอนพักผ่อนยาว 120 นาที เพียงครั้งเดียวต่อคืน โดยอาสาสมัครกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองเฉื่อยชาและง่วงเหงาหาวนอนมากที่สุด
.
ดร. โอริยามะ แนะนำว่า “การงีบหลับ 90 นาทีในช่วงแรกของค่ำคืน ช่วยรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้คงอยู่ยาวนานขึ้น ส่วนการงีบสั้น ๆ ครั้งที่สอง นาน 30 นาทีในช่วงใกล้รุ่ง ช่วยลดความเหนื่อยล้าและทำให้ผู้นั้นคงปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วเอาไว้ได้ จึงถือเป็นกลยุทธ์การงีบหลับแบบผสมผสาน ที่ส่งผลให้การทำงานโต้รุ่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเต็มที่”
.
ผลการทดลองข้างต้นได้จากการให้อาสาสมัครทำแบบทดสอบมาตรฐาน Uchida-Kraepelin ซึ่งใช้วัดความรวดเร็วและความแม่นยำในการทำงาน โดยจะมีการตรวจวัดทุกชั่วโมงขณะที่พวกเขาตื่นอยู่ ทั้งยังให้อาสาสมัครประเมินระดับความเหนื่อยล้าของตนเองไปด้วย
.
คนที่ได้งีบยาว 120 นาทีในช่วงแรกของคืน จะเริ่มรู้สึกง่วงอย่างหนักในเวลาใกล้รุ่งราว 4.00 น. แต่คนที่ได้งีบช่วงสั้น ๆ สองครั้ง จะเริ่มรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อถึงเวลา 6.00 น. ไปแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม การพักงีบหลับทุกแบบไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สมองคิดวิเคราะห์ แต่กลุ่มผู้ที่ได้งีบหลับนาน 90 นาที เพียงครั้งเดียวต่อคืน จะทำแบบทดสอบส่วนนี้โดยได้คะแนนออกมาต่ำที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสตื่นขึ้นมาก่อนที่วงจรการหลับตามธรรมชาติ ที่กินเวลานานราว 90 นาที จะสิ้นสุดลง
.
การศึกษานี้มีขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่น ซึ่งต้องประสบปัญหาการนอนน้อยหรืออดนอนอยู่เสมอในการทำงานกะกลางคืน ซึ่งปกติจะอนุญาตให้งีบพักผ่อนได้เพียง 2 ชั่วโมง ตลอดการทำงานที่ยาวนานถึง 16 ชั่วโมง แต่กลยุทธ์การงีบหลับแบบนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนในสาขาอาชีพอื่นได้เช่นกัน
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c99qll7p1xdo