การที่เราอวบอ้วนขึ้นจนร่างกายส่วนต่าง ๆ บวมฉุ รวมทั้งพุงก็ยื่นล้นหลามเพราะอิ่มไขมัน ทำให้หลายคนคิดว่าอาหารไขมันสูง ซึ่งสามารถให้พลังงานหรือแคลอรีได้ในปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารกลุ่มอื่น ๆ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำหนักตัวพุ่งทะยานจนถึงขั้นเป็นโรคอ้วนได้

.

อย่างไรก็ตาม ความรู้ใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโภชนาการและสารอาหาร กลับชี้ว่าไขมันอาจไม่ใช่ตัวต้นเหตุที่ทำให้เราอ้วนโดยตรง แต่น่าจะเป็นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตบางชนิดที่นำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากกว่า ส่งผลให้มีการคิดค้นแนวทางลดความอ้วนที่แตกต่างกันสองวิธี คือการกินอาหารไขมันต่ำ (low-fat) และการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งและน้ำตาลต่ำ (low-carb)

.

แม้จะดูเหมือนว่าการลดความอ้วนในสองแนวทางข้างต้นนั้นขัดแย้งกัน แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดของสหรัฐฯ ได้ออกมาเสนอแนวคิดใหม่ที่ชี้ว่า การลดความอ้วนโดยไม่ว่าจะเลือกกินอาหารไขมันต่ำหรือคาร์โบไฮเดรตต่ำ ล้วนเป็นแนวทางที่ถูกต้องทั้งคู่ โดยวิธีการทั้งสองแบบมีความเชื่อมโยงกัน จนส่งผลกระทบถึงกลไกการสร้างน้ำตาลฟรุกโตส (fructose) ในร่างกาย ที่เป็นรากเหง้าของความผิดปกติในระบบเผาผลาญและต้นกำเนิดที่แท้จริงของความอ้วน

.

น้ำผึ้งที่หลายคนคิดว่าเป็นอาหารสุขภาพ มีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบได้ถึง 40%

นพ.ริชาร์ด จอห์นสัน ผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดบอกว่า ผลการศึกษาของพวกเขาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Obesity ฉบับล่าสุด ได้อธิบายถึงต้นตอของกลไกการสะสมไขมันอันเป็นที่มาของความอ้วนเสียใหม่ โดยได้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า “สมมติฐานการอยู่รอดด้วยน้ำตาลฟรุกโตส” (fructose survival hypothesis)

.

โดยทั่วไปแล้วฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่มีอยู่มากในผลไม้ แต่การกินผลไม้ตามธรรมชาติในสภาพที่ยังมีวิตามินและกากใยหรือไฟเบอร์ รวมทั้งกินในปริมาณที่พอเหมาะพอควร ไม่ทำให้อ้วนหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด

.

ร่างกายของคนเรายังสามารถผลิตน้ำตาลฟรุกโตสได้เองเล็กน้อย หากมีการกินอาหารซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคสและโซเดียมเข้าไปในปริมาณมาก ซึ่งก็คือการกินอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัด อย่างเช่นอาหารที่ผ่านการแปรรูปมาอย่างหนัก (ultra-processed food) นั่นเอง

.

แต่หากอาหารดังกล่าวมีการเติมน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง (high-fructose corn syrup – HFCS) ที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมอาหารลงไปด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสที่เข้าสู่ร่างกายให้สูงขึ้นไปอีก

.

แผนผังแสดงความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีความอ้วนแบบต่าง ๆ ซึ่งโดยสรุปแล้วมีรากเหง้ามาจากน้ำตาลฟรุกโตสทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเผาผลาญน้ำตาลฟรุกโตสที่ร่างกายผลิตขึ้นเองและที่เรากินเข้าไปนี้ ส่งผลกระทบทางลบต่อกระบวนการผลิตสารที่ให้พลังงานกับเซลล์ ซึ่งก็คืออะดีโนซีนไตรฟอสเฟต หรือ “เอทีพี” (ATP) นั่นเอง โดยการเผาผลาญน้ำตาลฟรุกโตสจะทำให้เอทีพีลดลง จนร่างกายอ่อนล้าขาดพลังงานและต้องแสวงหาอาหารมาใส่ท้องเพิ่มเติม เกิดเป็นอาการหิวบ่อยและรู้สึกอยากจะกินแต่อาหารที่มีไขมันสูง

.

“ฟรุกโตสคือตัวกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึมของเรา เข้าสู่ภาวะประหยัดพลังงาน (low power mode) ไม่ยอมให้มีการเผาผลาญไขมันที่เก็บสำรองไว้มาใช้ ในขณะเดียวกัน ภาวะนี้ยังกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากอาหารที่มีไขมันสูง จนควบคุมพฤติกรรมการกินของตัวเองไม่ได้ด้วย” นพ.จอห์นสัน กล่าวอธิบาย

.

สมมติฐานการอยู่รอดด้วยน้ำตาลฟรุกโตส ที่นพ.จอห์นสันและคณะเป็นผู้เสนอขึ้นมาใหม่ ชี้ว่ากลไกข้างต้นที่ฟรุกโตสจะยับยั้งการผลิตพลังงานและการเผาผลาญไขมันสำรอง ถือเป็นกลไกเชิงวิวัฒนาการตามธรรมชาติที่พบในสัตว์จำศีล ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสที่พวกมันจะรอดชีวิตจากความอดอยากขาดแคลนตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน เช่นหมีจะเร่งกินผลไม้ก่อนถึงฤดูจำศีล เพื่อให้ได้น้ำตาลฟรุกโตสที่ช่วยเก็บรักษาไขมันในร่างกาย ทั้งยังกระตุ้นให้มันขวนขวายหาอาหารที่มีไขมันสูงมากินเพิ่มขึ้น

.

หมีเร่งกินผลไม้ก่อนถึงฤดูจำศีล เพื่อให้ได้น้ำตาลฟรุกโตสที่ช่วยเก็บรักษาไขมันในร่างกาย

แม้การกินน้ำตาลฟรุกโตสจะมีประโยชน์ต่อความอยู่รอดของสัตว์จำศีลหรือมนุษย์ในยุคบรรพกาล ซึ่งในยุคนั้นอาหารพลังงานสูงไม่ใช่สิ่งที่จะหามาใส่ท้องกันได้ง่าย ๆ แต่สำหรับมนุษย์ยุคใหม่ที่ผ่านการปฏิวัติเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาแล้ว การกินอาหารแปรรูปที่หวานจัดและเค็มจัด รวมทั้งการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสเข้าไปโดยตรง กลับจะเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะนำไปสู่โรคอ้วนและโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs) หลายชนิด ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งได้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c1wqx800w4vo