กลุ่มเมฆบางจุดบนดาวพฤหัสบดีดูคล้ายใบหน้าคนที่กำลังเศร้าสร้อย

กลุ่มเมฆบางจุดบนดาวพฤหัสบดีดูคล้ายใบหน้าคนที่กำลังเศร้าสร้อยฟช่วงเทศกาลฮาโลวีนในปลายเดือนตุลาคมของทุกปี องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา จะคัดสรรภาพดาราศาสตร์เช่นดวงดาวหรือเนบิวลาที่ดูเหมือนภูติผีปีศาจ มานำเสนอให้ได้รับชมกันเป็นประจำ

.

ในปีนี้ภารกิจจูโน (Juno) ขององค์การนาซา สามารถบันทึกภาพใบหน้าของผีน้อยที่กำลังเบะปากเหมือนกับจะร้องไห้เอาไว้ได้ ขณะยานโคจรสำรวจของภารกิจบินผ่านเหนือกลุ่มเมฆอันปั่นป่วนของดาวพฤหัสบดี (Jupiter)

.

ภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ของปีนี้ ระหว่างที่ยานสำรวจในภารกิจจูโนบินเฉียดผ่านดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 54 โดยยานใช้การเหวี่ยงตัวเพื่อโคจรวนรอบไปสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารบางส่วน

.

จุดที่พบกลุ่มเมฆซึ่งก่อตัวเป็นรูปร่างคล้ายผีน้อยหน้าเศร้านั้น อยู่ใกล้กับขั้วเหนือของดาวตรงส่วนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “กระแสลมกรด N7” (Jet N7) ทั้งยังตั้งอยู่บริเวณเส้นแบ่งเขตเวลากลางวันกับกลางคืน (terminator line) ของดาวพอดี

.

กลุ่มเมฆบริเวณเส้นแบ่งเขตเวลากลางวันและกลางคืนของดาวพฤหัสบดี

แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบกลุ่มเมฆดังกล่าวในมุมต่ำ ทำให้ปรากฏเป็นสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยลวดลายอันซับซ้อน จนเราสามารถจินตนาการให้ดูเหมือนกับใบหน้าของคนหรือภูตผีปีศาจได้ ซึ่งสิ่งนี้คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มนุษย์มีแนวโน้มจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีรูปร่างไม่ชัดเจนว่าเป็นใบหน้าคนไปหมด หรือที่เรียกว่า “แพไรโดเลีย” (pareidolia)

.

ภาพนี้ถ่ายจากกล้อง JunoCam ขณะยานสำรวจบินอยู่เหนือกลุ่มเมฆของดาวพฤหัสบดี 7,700 กิโลเมตร บริเวณละติจูดที่ 69 องศาเหนือ

.

เมื่อปี 2018 ยานสำรวจในภารกิจจูโนค้นพบว่า แถบลวดลายต่าง ๆ ที่มองเห็นบนชั้นบรรยากาศของดาว ซึ่งอันที่จริงเป็นพายุหมุนขนาดยักษ์นั้น ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอยู่แค่ที่ผิวของกลุ่มเมฆชั้นบน แต่ยังพัดรุนแรงดิ่งลึกลงไปข้างใต้ถึงราว 3,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว

.

ภาพจำลองดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารบางส่วน

ยานสำรวจยังพบว่าที่ขั้วเหนือของดาวมีพายุไซโคลน 8 ลูก หมุนอยู่รอบพายุที่เป็นจุดศูนย์กลางขนาดยักษ์ลูกหนึ่ง และที่ขั้วใต้ก็มีพายุลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีพายุไซโคลน 5 ลูกหมุนอยู่โดยรอบ

.

นักดาราศาสตร์ชี้ว่าพายุเหล่านี้มีอยู่มานานหลายร้อยปีแล้ว และมีกำลังลมที่พัดแรงสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งยังน่าอัศจรรย์ว่าพวกมันไม่รวมตัวเข้าด้วยกัน หรือปล่อยให้พายุลูกข้างเคียงแทรกตัวเข้ามาได้แบบพายุทั่วไปบนโลก

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c72l0p77gwpo