เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ด้าน Go Green โดยมอบนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (DustBoy) ให้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมอบนวัตกรรมสวนบำบัดฝุ่น ให้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เนื่องในโอกาสสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 64 ปี ซึ่งทั้ง 2 ผลงาน เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ณ โถงชั้น 1 อาคาร สวทช. (โยธี) กระทรวง อว. กรุงเทพมหานคร
.
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า อว. ขอแสดงความยินดี กับ วช. เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี วช. กระทรวง อว. มีความเชื่อมั่นว่า วช. จะมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี กลไก ที่สามารถตอบสนองความท้าทายเร่งด่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางมิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเป้าหมายที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่สุขภาพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี แก่ประชาชน
.
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ให้ความสำคัญ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนา บนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) แนวคิด Resilience คือการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น 3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4) โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
.
“นโยบายของ อว. มุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ "เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green, พอเพียง, ความยั่งยืน, ความเป็นกลางทางคาร์บอน, พลังงานสะอาด, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจชีวภาพ ,เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)" ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อม อว. ได้มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ” นางสาวศุภมาส กล่าว
.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ จากโครงการ “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ (DustBoy)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นวัตกรรม “สวนบำบัดฝุ่น” จากโครงการ “การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
.
การมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ อว. มอบนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ จำนวน 500 เครื่อง เป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ 2567 ที่ อว. มอบให้ประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที ลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และ อว. โดย วช. จะดำเนินการจัดสวน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นสวนต้นแบบในการบำบัดฝุ่น ด้วยการจัดเรียงต้นไม้ที่เหมาะสม จะช่วยกำบังฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 20 - 60 ตามลักษณะพื้นที่ และปลูกพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 เช่น ใบขนาดใหญ่ ใบมีขน ใบมีความขรุขระ หรือ ใบมีแว็ก นอกจากนั้นความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้น ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็ก
.
นอกจากมีพิธีมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ Go Green ด้วยวิจัยและนวัตกรรมแล้ว วช. ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (DustBoy) โมเดลสวนบำบัดฝุ่น กิจกรรมเสวนา กิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ และผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยขายได้ ในบริเวณพื้นที่จัดงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 64 ปี” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000096508