5 ผลิตภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง มีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย
.
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับมอบประกาศนียบัตร คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำมันเตา (Fuel Oil) 2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas (LPG)) 3. น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (High Speed Diesel) 4. น้ำมันแก๊สโซลีนพื้นฐาน (Gasoline based) 5. น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเครื่องบิน (Illuminating or Industrial Kerosene (IK)) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint) โดยมี ดร.เอนกประชา แก้วมณี ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจโรงกลั่น
บมจ.บางจากฯ เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับมอบเมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
.
เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เป็นการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ใช้หลักการประเมินผลกระทบตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้า ให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ของ บางจากฯ มีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ประเมินโดย Open Government Data of Thailand หรือ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และต่ำกว่าค่า Benchmark ของโรงกลั่นทั้งในและนอกประเทศ
.
การขึ้นทะเบียนเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความมุ่งมั่นของ บางจากฯ ในการให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานตามแผนงาน BCP316NET พื่อนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2050
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000097790