ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นช่วงที่ “ดาวพฤหัสบดี” โคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี โดยสังเกตได้ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างมากทางทิศตะวันออก ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย ดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งทำให้ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เป็นตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี

.

การชมดาวพฤหัสบดีสามารถสังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า และเมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์กาลิเลียน 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต ได้อย่างชัดเจน รวมถึงแถบเมฆที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็นจุดแดงใหญ่ พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน

.

ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีรวดลายสวยงามดวงนี้ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 ถัดจากดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่มีดาวบริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ 67 ดวง โดยดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสคือ “แกนิมีด” เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต

.

นอกจากขนาดที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุดในระบบสุริยะ รอบหนึ่งใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง 55 นาที และใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 12 ปี

.

จุดเด่นเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ คือชั้นเมฆที่ห่อหุ้มดาวพฤหัส เด่นชัดที่สุดคือ จุดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก โดยทั่วไปดาวดวงนี้เป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า (รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000098445