โมเดลต้นแบบแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ (ที่มา: สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน))
ทำความรู้จัก ‘ซินโครตรอน’ แสงสารพัดประโยชน์ หลังกระทรวง อว. เผยความก้าวหน้าแผน 1 หมื่นล้านบาทสร้างเครื่องกำเนิดตัวที่สอง ด้าน กมธ. เรียกผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม
.
เมื่อ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของไทย อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
.
ศุภมาสระบุว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากเครื่องดังกล่าวในหลายด้าน และจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 57,000 ล้านบาท และจะมีส่วนสนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงลึกและหลากหลายยิ่งขึ้น
.
วีโอเอไทยชวนทำความรู้จักแสงซินโครตรอน ว่าคืออะไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และไทยจะทำอะไรกับมัน
.
แสงซินโครตรอน คืออะไร
‘ซินโครตรอน’ เป็นแสงประเภทหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ซินโครตรอนมีความแตกต่าง คือมันมีความสว่างกว่าแสงเวลากลางวันกว่าล้านเท่า และมีขนาดลำแสงเล็กได้ถึง 1/1,000,000 เมตร
.
ในฐานะแสง ซินโครตรอนก็ถือเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป ก็คือแสงซินโครตรอนมีความยาวคลื่นครอบคลุม 4 ช่วงความยาวคลื่น ตั้งแต่แสงอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น แสงอัลตราไวโอเลต และรังสีเอ็กซ์
.
กล่าวโดยสรุป แสงซินโครตรอนจึงเป็นแสงที่มีความสว่างสูง มีอำนาจทะลุทะลวงสูง และมีช่วงความยาวคลื่นของแสงหลายประเภท จึงสามารถนำไปใช้งานได้ในหลายด้าน
.
ด้วยความสารพัดประโยชน์ของมัน บทความจากหน่วยงานห้องทดลองเครื่องเร่งอนุภาคแห่งชาติของสหรัฐฯ (SLAC) จึงขนานนามแสงซินโครตรอนว่าเป็น ‘มีดสวิสทางวิทยาศาสตร์’ ที่ถูกใช้ทั้งการวิจัยสิ่งเล็ก ๆ ระดับโมเลกุลในร่างกายและวัสดุต่าง ๆ ไปจนถึงการส่องดูฟอสซิลไดโนเสาร์หรือรายละเอียดในคัมภีร์โบราณ
.
สร้างอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
ปัจจุบัน ไทยมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนอยู่หนึ่งเครื่อง ภายใต้การดูแลและใช้งานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (SLRI) เป็นองค์การมหาชนภายใต้กำกับของกระทรวง อว. ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2541 และเป็นสถาบันที่วิจัยและผลิตแสงซินโครตรอนได้หนึ่งในสองแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากประเทศสิงคโปร์
.
SLRI ทำข้อมูลเอาไว้ว่า การสร้างแสงซินโครตรอนประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่การผลิตอิเล็กตรอน หรืออนุภาคที่มีประจุลบแล้วจ่ายไฟฟ้าเข้าไปให้เกิดความร้อนจนอิเล็กตรอนหลุดออกมา จากนั้นนำอิเล็กตรอนดังกล่าวเข้าสู่เครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง และบังคับให้เลี้ยวโค้งผ่านสนามแม่เหล็ก เมื่ออิเล็กตรอนถูกเร่งจนมีพลังงานมากพอ ก็จะถูกส่งต่อไปยังจุดเก็บกักอิเล็กตร็อนเพื่อที่จะลำเลียงไปใช้งานต่อไป
.
นักวิทยาศาสตร์ใช้แสงพลังงานสูงที่ผลิตจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาซากศพอายุ 1,800 ปี ภาพเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2017 (ที่มา: AP)
ข้อมูลจาก SLRI ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการนำแสงซินโครตรอนไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและพืชผล ตรวจสอบแยกแยะวัตถุโบราณและสนับสนุนงานบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
.
หนึ่งในตัวอย่างจาก SLRI คือบทบาทของสถาบันฯ ในการวิจัยและปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มให้บริษัทได้ถึง 1,300 ล้านบาท
.
การรายงานข่าวหลายสำนักในไทย ระบุด้วยว่าแสงซินโครตรอนยังถูกนำไปใช้ในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในคดีต่าง ๆ โดยหนึ่งคดีดังที่เป็นที่จับตามองของสังคมอย่างการเสียชีวิตปริศนาของ “น้องชมพู่” ที่บ้านกกกอก จ.มุกดาหาร เมื่อ 2563
.
เหตุผลของการมีเครื่องซินโครตรอนตัวใหม่
ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวด้วยว่า คาดว่าเครื่องซินโครตรอนใหม่จะเปิดให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชนได้ภายในปี 2577 และจะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง
.
ปัจจุบัน เครื่องกำเนิดซินโครตรอนที่ไทยมีอยู่ สามารถผลิตแสงที่มีระดับพลังงานราว 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) แต่เครื่องใหม่ที่จะมีการสร้างขึ้น สามารถสร้างแสงที่มีระดับพลังงาน 3,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ 3GeV ซึ่งเป็นชื่อที่ระบุเอาไว้ในโครงการเช่นกัน
.
ผู้สื่อข่าวสืบค้นจากฐานข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี พบว่าโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน 3GeV และห้องปฏิบัติการ ถูกส่งให้ ครม. พิจารณาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2563 แล้วโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ผ่านกระทรวง อว.
.
เอกสารโครงการให้เหตุผลว่า เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ไทยครอบครองอยู่ในปัจจุบันมีระดับพลังงานต่ำและมีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้ว จึงต้องสร้างเครื่องใหม่เพื่อขยายการใช้ประโยชน์ให้หลากหลายขึ้น และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการวิจัยชั้นสูงของอาเซียน
.
โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 9,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเครื่องเร่งอนุภาคและวงกักอิเล็กตรอน 6,000 ล้านบาท ค่าระบบลำเลียง 1,500 ล้านบาท ค่าทีดิน อาคาร และโครงสร้างพื้นฐาน 1,720 ล้านบาท
.
การใช้งบประมาณจะถูกแบ่งจ่ายในแต่ละปี อยู่ที่ 64 ล้านบาท -2,050 ล้านบาทต่อปีจนสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ
.
ในเดือนมกราคม ปี 2563 ครม. เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ดำเนินการเพิ่มเติมด้วยการจัดทำแผนธุรกิจ คำนึงถึงการพัฒนาระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง ศึกษาโครงสร้างของสถาบันวิจัย และจัดทำแผนลดความเสี่ยงต่าง ๆ
.
ครม. ยังไม่มีมติรับรองโครงการดังกล่าว เรื่อยมาจนกระทั่งมีการให้ข่าวของ รมว. อว. ในเดือนตุลาคม 2566
.
เมื่อ 30 ตุลาคม สำนักข่าวมติชนรายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือไปยัง รมว.อว. และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้เข้าชี้แจงข้อมูลกับ กมธ. ในประเด็นโครงการดังกล่าว ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
.
ฐากรระบุว่า หากมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โครงการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/explainer-about-synchrotron-after-thailand-aims-to-invest/7339435.html