เมื่อพูดถึงสัตว์โลกที่มีอายุยืนยาว หลายคนอาจนึกถึงเต่าซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (reptiles) ก่อนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammals) ซึ่งรวมถึงคนเรา กลับไม่สู้จะขึ้นชื่อในเรื่องของการมีชีวิตยาวนานมากกว่าร้อยปีสักเท่าไหร่นัก เว้นแต่สัตว์ใหญ่บางชนิดเช่นช้างและวาฬเท่านั้น
.
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์ถึงอัตราเร็วของการแก่ชราในสัตว์แต่ละจำพวก ก็พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นเติบโตและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibians) จนทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์เรามีช่วงชีวิตที่สั้นและอายุขัยไม่ค่อยยืนยาว
.
ล่าสุดมีผู้เสนอสมมติฐานที่อาจช่วยอธิบายเรื่องนี้ว่า การที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแก่ชราเร็วและมีอายุสั้นไม่ถึงหนึ่งศตวรรษนั้น น่าจะเป็นผลของวิวัฒนาการที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในยุคดึกดำบรรพ์ช่วงที่ไดโนเสาร์กำลังครองโลก โดยการที่ต้องเอาชีวิตรอดจากคมเขี้ยวของไดโนเสาร์ที่หิวกระหาย ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำต้องโตเร็วเพื่อสืบพันธุ์ให้ได้โดยด่วนที่สุดเมื่อมีโอกาส
.
แผนภาพแสดง “คอขวดของความมีอายุยืนยาว” ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ช่วงยุคจูราสสิกและครีเทเชียส
กลยุทธ์การดำรงเผ่าพันธุ์เช่นนี้ ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประสบความสำเร็จในเชิงวิวัฒนาการ และสามารถแพร่ขยายเผ่าพันธุ์จนครองโลกได้เมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่วิธีการดังกล่าวก็มีข้อเสีย เพราะทำให้ลูกหลานสืบทอดพันธุกรรมแบบ “โตเร็ว ตายไว” มาจนถึงปัจจุบัน
.
สมมติฐานนี้มีชื่อว่า “คอขวดของความมีอายุยืนยาว” (longevity bottleneck) เพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร BioEssays โดย ดร.จัว เปโดร จี มากาเญส (João Pedro de Magalhães) นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในสหราชอาณาจักร เป็นผู้เสนอคำอธิบายดังกล่าว
.
“ต้นตระกูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรก ๆ มีขนาดเล็ก พวกมันจำต้องดำรงชีพร่วมกับไดโนเสาร์นานถึง 100 ล้านปี โดยอยู่ในอันดับท้ายสุดของห่วงโซ่อาหาร ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเชิงวิวัฒนาการ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องรีบสืบพันธุ์ให้ได้เร็วที่สุด ก่อนที่จะกลายเป็นอาหารของทีเร็กซ์ ซึ่งหมายถึงพวกมันต้องรีบโตเต็มวัยให้ได้ในช่วงสั้น ๆ นั่นเอง” ดร.จี มากาเญส กล่าว
.
ภาพจำลองต้นตระกูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งผ่านการปรับตัวมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นเพื่ออยู่อาศัยในเขตหนาว
นอกจากนี้ เขายังพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขาดยีนบางชนิดที่ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่างจากญาติของไดโนเสาร์อย่างสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มียีนดังกล่าวอยู่ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งคนเราชราภาพได้ง่าย ทั้งยังมีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นอีกด้วย
.
ดร.จี มากาเญส บอกว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรก (eutherians) ขาดเอนไซม์หลายชนิดที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์จากความเสียหายเพราะรังสีอัลตราไวโอเล็ต (UV) ซึ่งความบกพร่องนี้น่าจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ตอนที่พวกมันเป็นสัตว์หากินกลางคืนเพื่อหลบหลีกภัยอันตรายจากการล่าของไดโนเสาร์ ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง (marsupials) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูทวารใช้ขับถ่ายและสืบพันธุ์เพียงหนึ่งเดียว (monotremes) ก็ขาดเอนไซม์บางตัวในกลุ่มนี้เช่นกัน
.
แม้สมมติฐานดังกล่าวจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างกับ “ตุ่นหนูไร้ขน” (naked mole rat) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีภูมิคุ้มกันต้านมะเร็ง ทั้งยังขัดแย้งกับความรู้ใหม่ทางบรรพชีวินวิทยาที่พบว่า ไดโนเสาร์เองก็มีอายุไม่ยืนยาวมากเท่าที่เคยคิดกัน แต่การติดตามพิสูจน์ความถูกต้องของสมมติฐานนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยเพื่อหาวิธีป้องกันรักษาโรคมะเร็งและยืดอายุขัยของมนุษย์ต่อไป
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c51005zpylgo