หากเมื่อคืนนี้คุณนอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือนอนได้น้อยเพียงไม่กี่ชั่วโมง จนตื่นขึ้นมามีอาการมึนงงปวดศีรษะ หรืออ่อนเพลียเหมือนจะเริ่มต้นวันทำงานใหม่ไม่ไหว แทนที่จะหาเวลางีบต่ออีกสักนิด การลุกขึ้นมาออกกำลังกายช่วงสั้น ๆ 20 นาที จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใสมากกว่า และสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น
.
งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร “สรีรวิทยากับพฤติกรรม” (Physiology & Behavior) ระบุว่าการออกกำลังกายจะช่วยแก้ไขและชดเชยประสิทธิภาพในการทำงานของสมองที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพการนอนหลับที่ย่ำแย่ตลอดคืนที่ผ่านมาได้
.
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธของสหราชอาณาจักร ทำการทดลองซึ่งพิสูจน์ว่าการออกกำลังกายนั้นมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อร่างกายคนเรา แม้ในภาวะที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและได้รับออกซิเจนต่ำ โดยทีมผู้วิจัยให้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรง 24 คน แยกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อเข้าร่วมการทดลองกลุ่มละ 2 ครั้ง
.
ในครั้งแรกอาสาสมัครกลุ่มที่หนึ่งจะต้องผ่านการอดนอนเป็นบางช่วง (Partial Sleep Deprivation - PSD) ในแต่ละคืน รวมทั้งสิ้น 3 คืนติดต่อกัน ในครั้งที่สองพวกเขาจะต้องผ่านการอดนอนเป็นบางช่วงอีก แต่อยู่ในภาวะที่ร่างกายมีออกซิเจนต่ำ (hypoxia) ด้วย ส่วนอาสาสมัครกลุ่มที่สองนั้นจะต้องผ่านการอดนอนทั้งคืน (Total Sleep Deprivation - TSD) เป็นเวลาหนึ่งคืน จากนั้นจะมีการอดนอนแบบเดิมในภาวะที่ร่างกายขาดออกซิเจนด้วยเช่นกัน
.
มีการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้สมองคิดวิเคราะห์หลังการอดนอนของอาสาสมัครแต่ละกลุ่ม โดยเปรียบเทียบกับการได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ และการลุกขึ้นมาออกแรงช่วงสั้น ๆ 20 นาที ด้วยการปั่นจักรยานออกกำลังกาย (stationery bike) หลังจากอดนอนจนรู้สึกมึนงงอิดโรยในตอนเช้า
.
ผลปรากฏว่าการออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภาวะที่ผ่านการอดนอนมามากหรือน้อย หรือในภาวะที่ร่างกายได้รับออกซิเจนต่ำกว่าปกติก็ตาม
.
ดร.โจ คอสเทลโล นักสรีรวิทยาผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ บอกว่า “ผลการศึกษาในอดีตทำให้เราทราบกันมานานแล้วว่า การออกกำลังกายช่วยรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ของสมอง แม้ในภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ แต่การทดลองของเราเป็นการศึกษาวิจัยครั้งแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หลักการดังกล่าวยังคงใช้ได้ผล แม้สมองจะไม่ได้พักผ่อนมาทั้งคืนเลยก็ตาม”
.
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า การออกกำลังกายช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้สมอง จึงทำให้ฟื้นพลังการคิดวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ได้ แต่การทดลองครั้งล่าสุดนี้กลับชี้ให้เห็นว่า ปริมาณออกซิเจนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มพลังสมองให้สูงขึ้น แต่อาจเป็นการปรับระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ควบคุมการทำงานของสมอง รวมทั้งการกระตุ้นเร้าต่อระบบประสาทที่ได้จากการออกกำลังกายด้วย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนทั่วไปที่มีปัญหาการนอนหลับ หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องอดนอนอย่างเช่นพ่อแม่มือใหม่ที่ต้องเลี้ยงลูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมซึ่งมีออกซิเจนต่ำ อย่างเช่นนักไต่เขาที่กำลังมุ่งพิชิตเขาสูงอย่างเอเวอเรสต์ ซึ่งอาการป่วยจากภาวะแพ้ที่สูง (altitude sickness) ส่งผลให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ มึนงง และตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
.
งานวิจัยในอดีตชี้ว่า ผู้คนจำนวนมากถึง 43% นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งก็คือหลับได้ไม่ถึงระดับที่แพทย์แนะนำ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตเช่นโรคซึมเศร้าด้วย
.
ดร.คอสเทลโล กล่าวย้ำว่า “การออกกำลังโดยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายนั้น ถือว่าเป็นยาดีสำหรับอวัยวะต่าง ๆ และสมองอย่างแท้จริง แต่แทนที่เราจะคอยหาวิธีแก้ไขผลเสียจากการอดนอน หรือมัวแต่หาเวลานอนชดเชย ทุกคนควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอเสียแต่แรก จะเป็นการดีกว่า”
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c3g22q8373mo