ภาพถ่ายจากเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2019 แสดงให้เห็นฝูงกวางเรนเดียร์ในภูมิภาคอาร์กติกของสวีเดน ก่อนจะถูกขนส่งไปยังทุ่งเลี้ยงสัตว์ฤดูหนาวต่อไป (AP Photo/Malin Moberg)

ในช่วงเทศกาลปลายปีเช่นนี้ เด็กๆ มักตั้งหน้าตั้งตารอซานตาคลอสกันเป็นหลัก และหลายคนก็ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ให้เตรียมคุ้กกี้และนม ไว้ให้คุณลุงใจดีเติมกำลังในข้ามคืนอัศจรรย์นี้ พร้อม ๆ แครอทมากมายให้กับทีมงานกวางเรนเดียร์ ทั้ง 9 ตัวที่นำทีมโดย รูดอล์ฟ ที่มีเอกลักษณ์เป็นจมูกสีแดง

.

แต่มีคนสงสัยว่า ถ้าไม่ใช่เทศกาลคริสต์มาสแล้ว เหล่ากวางเรนเดียร์จะมีอะไรกินหรือเปล่า โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงว่า กวางทั้งหมดนี้อาศัยอยู่ในภูมิภาคอันหนาวเหน็บที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ ทั้งการหาอาหารและการหลบสัตว์นักล่าด้วย

.

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) ในรัฐนิวแฮมป์เชอร์ และมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส (University of St. Andrews) ในสกอตแลนด์ เพิ่งเปิดเผยรายงานการศึกษาล่าสุดที่ชี้ว่า กวางเรนเดียร์อาจมีวิวัฒนาการจนถึงระดับที่สายตาของพวกมันสามารถมองเห็นอาหารเมนูโปรดจากภูมิประเทศที่ยากเข็ญได้ง่ายดายขึ้นแล้ว

.

นาเธเนียล โดมินี ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยดาร์ทมัธ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานนี้ กล่าวว่า มีการพบหลักฐานเพิ่มเติมว่า สายตาของกวางเรนเดียร์คือ คุณสมบัติที่ทำให้กวางตระกูลนี้มีความโดดเด่นเหนือสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แวดวงจักษุประสาทวิทยาเองก็ยังไม่เข้าใจและแน่ใจชัดเจนนัก

.

แฟ้มภาพ - กวางเรนเดียร์ตัวหนึ่งที่ยืนเล็มหญ้าบนหลังคาของ California Academy of Science ในนครซานฟรานซิสโก เมื่อ 23 พ.ย. 2010 (AP)

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมาหลายปีแล้วว่า เนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนกระจกที่ตาของกวางเรนเดียร์นั้นสามารถเปลี่ยนสีจากสีทองอมเขียวในฤดูร้อน มาเป็นสีฟ้าสดใสได้ในฤดูหนาว ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชื่อว่าช่วยขยายความสามารถในการมองเห็นภายใต้บรรยากาศแสงสว่างไม่มากในช่วงฤดูหนาวของแถบขั้วโลก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าทำไม กวางเรนเดียร์ถึงสามารถมองผ่านสเปกตรัมแสงอัลตราไวโอเลตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ทำไมได้

.

ศาสตราจารย์โดมินี กล่าวว่า “สัตว์ส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในกลางวันที่มีแดดออกนั้นต้องการจะหลีกเลี่ยงแสงของรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นคุณสมบัติสร้างความเสียหายให้กับดวงตาได้” พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของการสะท้อนของแดดจากหิมะเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ประสบภาวะตาพร่าจากการมองแสงสะท้อนจ้าจากหิมะ

.

นักวิทยาศาสตร์บางรายเชื่อว่า สายตาของเรนเดียร์นั้นมีวิวัฒนาการมาพอจนทำให้สัตว์ชนิดนี้มีความสามารถหลบหลีกจากสัตว์นักล่าอื่น ๆ ได้ เช่น การที่สามารถแยกแยะหมาป่าสีขาวที่พรางตัวในพื้นที่ที่หิมะตกขาวโพลนได้ นอกจากนั้น ยังมีความสามารถในการมองเห็นอาหารของตนได้อย่างชัดเจนด้วย

.

ปกติ กวางเรนเดียร์ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการกินพืชที่รู้จักกันในชื่อหญ้ามอสเรนเดียร์ที่มีสีอ่อน ๆ ซึ่งในความจริงแล้ว พืชที่ว่านั้นไม่ใช่หญ้ามอสเสียทีเดียว แต่เป็นตะไคร่ชนิดหนึ่งที่เติบโตในลักษณะเป็นผืนหย่อม ๆ เหมือนพรมและมีลักษณะเนื้อสัมผัสกรุบกรอบซึ่งพบได้ทั่วไปในภูมิภาคที่อยู่แถบเส้นรุ้งตอนเหนือของโลก

.

ภาพกวางเรนเดียร์ตัวหนึ่งกำลังกินแอปเปิล แครอท และกะหล่ำปลี ที่มีผู้นำมาเสียบไว้ที่กิ่งต้นคริสต์มาสในเมืองคราสโนยาร์สก ภูมิภาคไซบีเรีย เมื่อ 28 ธ.ค. 2012

นักวิจัยได้เดินทางไปยังแถบเทือกเขาแคนกอมส์ (Cairngorms) ในแถบไฮแลนด์สของสกอตแลนด์ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการพบตะไคร่กว่า 1,500 ชนิดและเป็นถิ่นที่อยู่ของกวางเรนเดียร์สายพันธุ์อังกฤษ และได้พบว่า หญ้ามอสเรนเดียร์นั้นดูดซับแสงยูวี (UV – อัลตราไวโอเลต) เอาไว้จริง ๆ ซึ่งหมายความว่า ตะไคร่สีขาวที่มนุษย์มักมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นในพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะกลับดูเป็นเหมือนพรมสีมืด ๆ ในสายตากวางเรนเดียร์นั่นเอง

.

ศาสตราจารย์โดมินี จากมหาวิทยาลัยดาร์ทมัธ อธิบายเพิ่มว่า การที่เรนเดียร์สามารถมองเห็นตะไคร่ที่ว่าได้สบาย ๆ ย่อมหมายความว่า กวางเหล่านี้ได้เปรียบกว่าสัตว์อื่น ๆ เพราะไม่ต้องเดินตระเวณหาอาหารไปตามที่ต่าง ๆ แต่เดินตรงไปที่อาหารได้เลย โดยไม่ต้องเปลืองพลังงานเท่าใด

.

ส่วน ฮวน โฮเซ่ เนโกร ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการ รวมทั้งชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ จากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์สเปน (Spanish Council for Scientific Research) พบว่า งานวิจัยกวางเรนเดียร์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย แม้จะยอมรับว่า การค้นพบใด ๆ ที่มีออกมานั้นยังไม่สามารถนำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านชีวการแพทย์ได้ในทันที

.

ถึงกระนั้น เนโกร มองว่า การดำเนินงานวิจัยนี้มีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่สัตว์รับมือกับสิ่งแวดล้อมอันโหดร้ายได้

.

ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์โดมินีแสดงความเห็นด้วยและชี้ว่า การวิจัยนี้อาจนำมาซึ่งประโยชน์ต่อมนุษย์ได้อยู่ดี เพราะปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยามากมายเกี่ยวกับตะไคร่เพราะพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติการต่อต้านอนุมูลอิสระมากมาย และการที่ตาของกวางเรนเดียร์มองผ่านแสงยูวีได้ก็แสดงเห็นว่า สัตว์ประเภทนี้มีกลไกอะไรสักอย่างในตัวที่ช่วงป้องกันตาของพวกมันไม่ให้เสียหายจากลำแสงที่ว่า

.

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยดาร์ทมัธ ยังชี้ด้วยว่า ตาของเรนเดียร์มีวิตามินซีอยู่เต็มไปหมด และวิตามินที่ว่านี้ก็มีคุณสมบัติเยี่ยมยอดในการซ่อมแซมความเสียหายด้วย

.

เมื่อพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ นี้แล้ว โดมินีตัดสินใจกลับไปอัพเดทรายงานที่เขาเคยเขียนไว้เมื่อปี 2015 ที่มีเนื้อหาชี้ว่า ทำไมจมูกสีแดงของกวางเรนเดียร์จึงเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่นำทางให้กับเลื่อนของซานตาคลอส

.

ในรายงานฉบับดังกล่าว เขาให้คำแนะนำเด็ก ๆ ไว้ว่า ควรทิ้งคุกกี้และอาหารที่มีแคลอรีสูงไว้ให้กวางรูดอล์ฟของซานตาคลอสกินด้วย เพื่อจะได้มีพลังงานไว้รักษาความร้อนในตัวที่สูญเสียไปผ่านจมูกสีแดง ระหว่างทำหน้าที่ลากเลื่อนไปตามบ้านทั้งหลายในคืนวันก่อนคริสต์มาส

.

ในตอนนี้ โดมินีเพิ่มเติมคำแนะนำลงไปว่า ควรมีการเน้นการทิ้งอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตาของกวางเรนเดียร์ และเก็บนมและคุกกี้ไว้ให้คุณลุงซานตาก็พอ โดยระบุว่า “สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อจะช่วยปกป้องสุขภาพของดวงตาของ[กวางเรนเดียร์] ก็คือ อะไรก็ได้ที่เปี่ยมไปด้วยวิตามินซี ... น้ำส้มคั้น แครอท ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่ดีเลิศสำหรับเรนเดียร์ในคืนก่อนคริสต์มาส”

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/reindeer-are-famous-for-pulling-santa-s-sleigh-but-there-s-a-characteristic-that-sets-them-apart/7410924.html