แม้ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ละเลยการดูแลตนเอง ทั้งจากการทำงานจนละเลยดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่ากลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งทางการแพทย์จัดเป็น “กลุ่มโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน” ซึ่งหากไม่ปรับการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเสียสุขภาพในแต่ละวัน ไม่ตรวจสุขภาพเป็นประจำก็มักจะไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา จนโรคค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นอาการเรื้อรังและรักษาไม่หายในที่สุด

.

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในด้านการดูแลโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเชิงรุกในการดูแลประชาชนตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู เพื่อช่วยลดการเกิดโรค หรือหากเป็นโรคแล้วก็สามารถลดภาวะแทรกซ้อน ลดการพิการ ลดภาระในการดูแลผู้ป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาได้ ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การเพิ่มความรอบรู้ทางสุขภาพให้แก่ประชาชน หรือ Health Literacy

.

เนื่องด้วยปัจจุบันกรมการแพทย์ได้มีการนำเทคโนโลยีโทรเวชกรรม (Telemedicine) และระบบติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Health; mHealth) มาดูแลผู้ป่วยโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษา แนะนำการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค ที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้บริการแก่ประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และจัดการสุขภาพของตัวเองได้ แต่เนื่องจากประชาชนมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีผลต่อการเข้าถึงและเข้าใจ

.

กรมการแพทย์จึงได้ดำเนิน “โครงการความเข้าใจบริการโทรเวชกรรม และการพัฒนาสื่อเพิ่มความรอบรู้ทางสุขภาพของประชาชน เรื่องโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน ตามภารกิจกรมการแพทย์” ซึ่งเป็นการผลิตสื่อสาธารณะในรูปแบบภาพยนตร์สั้นเพื่อให้ความรู้ทางสุขภาพในเรื่องโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ให้แก่ประชาชน ครอบคลุม ทั้งการให้บริการด้วยระบบโทรเวชกรรมและการบริการของโรงพยาบาล โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค คนดูแลและคนรอบข้างผู้ป่วย หรือแม้แต่ผู้สนใจดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ และใช้ความรู้มาดูแลสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิดได้

.

โครงดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกรมการแพทย์ ศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

.

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้ดูแลโครงการฯ เล่าว่า ดีเอ็มเอส เทเลเมดิซีน (DMS Telemedicine) หรือ โทรเวชกรรม เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง เพื่อใช้ในการติดตามดูแลอาการผู้ป่วยโควิด ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ทั้งโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และโรคด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การรักษา การติดตามอาการ ไปจนถึง การประเมินภาวะสุขภาพเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดการพิการ และการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และความยุ่งยากจากการที่ต้องรอคิวรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ อีกด้วย สิ่งสำคัญคือ กรมการแพทย์ตั้งใจจะให้บริการโทรเวชกรรมนี้เข้าถึงประชาชนและได้ใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย จึงได้วางแผนจัดทำโครงการเพื่อสื่อสารกับสาธารณะให้รับรู้ เข้าใจ และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

.

การดำเนินโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. แม้กรมการแพทย์จะมีงบประมาณจากภาครัฐ แต่การของบประมาณแต่ละปีจะถูกจัดลำดับความสำคัญ ทำให้บางโครงการที่อยากขับเคลื่อนแต่อาจมีโครงการอื่นที่เร่งด่วนกว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้โชคดีที่มี กทปส. เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสามารถใช้โอกาสตรงนี้ขอรับการสนับสนุนได้โดยไม่ต้องพึ่งแค่งบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว

.

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยโครงการ เล่าแนวคิดในการจัดทำภาพยนตร์ว่า ยึดหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ

1. ต้องช่วย “แก้ปัญหา” (Solution) ให้กับผู้ชมให้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคยุ่งยากซับซ้อน หรือเป็นโซลูชันที่ช่วยลดความเสี่ยงของคนที่ยังไม่เป็นโรค และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้การจัดทำภาพยนตร์มีเนื้อหาที่ตอบโจทย์ เข้าใจปัญหา เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด จึงเริ่มจากทำวิจัยก่อนโดยได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-sight) กลุ่มตัวอย่าง ทั้งผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง คนดูแล แพทย์ พยาบาล เพื่อหา Paint Point หาความต้องการ และพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคยุ่งยากซับซ้อนและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการรักษา พร้อมทั้งสำรวจ (survey) สถานการณ์การใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพโทรเวชกรรมในภาพรวมทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้น

.

2. ต้องมีเสน่ห์ น่าติดตามชม (Aesthetic) สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) และกระตุ้นให้ปฏิบัติ (Call for Action) ด้วยการแปลงเนื้อหาความรู้ทางการแพทย์ให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับความต้องการ ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีเสน่ห์ น่าติดตาม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม และจบเรื่องด้วยการกระตุ้นให้ “ทำทันที” ด้วยการให้ข้อมูลการเข้าถึงบริการโทรเวชกรรม

.

3. นอกเหนือจากความน่าติดตาม น่าสนใจของเนื้อหาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้อง “ถูกต้อง” (Validity) ตามหลักการแพทย์ โดยจะมีการตรวจสอบทั้งเรื่องราว บทบรรยาย ภาพ เสียง เทคนิคการตัดต่อ จากแพทย์ที่ปรึกษาโครงการ และต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ก่อนการเผยแพร่ โดยได้มีการนำข้อมูลจากงานวิจัยมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่น

.

โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่ใช้การรักษายาวนาน ต่อเนื่อง มีทั้งโอกาสที่รักษาหายและไม่หาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง และหมดกำลังใจ ส่งผลให้อาการยิ่งทรุดเร็ว ในการจัดทำภาพยนตร์จะไม่นำเสนอเนื้อหาไปในทำนองว่า “มะเร็งรักษาหาย” แต่เน้น “การอยู่ร่วมกับมะเร็งอย่างเข้าใจ” และ “เสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย” ช่วยให้ผู้ป่วยมีมุมมองเชิงบวกที่สามารถมีความสุขได้แม้จะเจ็บป่วยในระยะรุนแรง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากโครงเรื่องจริง

.

การบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด Pain Point ของผู้ติดยา คือ รู้สึกผิด รู้สึกอายที่จะเข้ารับการบำบัด การจัดทำภาพยนตร์จึงนำเสนอเนื้อหาเริ่มตั้งแต่การโน้มน้าวให้ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษา พร้อมกับเปลี่ยนมุมมองของสังคมและคนรอบข้างที่มีต่อผู้เสพยาว่าไม่ใช่ผู้น่ารังเกียจ น่ากลัว แต่เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคทั่วไป ต้องให้กำลังใจ และให้โอกาส พร้อมแนะวิธีดูแลหลังจากรักษาหายแล้วเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพยาอีก

.

ผู้สนใจสามารถติดตามชมภาพยนตร์ได้ที่ช่องยูทูบ: กรมการแพทย์ Department of medical services หรือ https://www.youtube.com/playlist?list=PL4s6GFFszjW_HNOQxXwejIFfoDLEA03iZ

.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8124 และ 02-554-8102 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000115082