เฉิง ลี่จิง นักสมุทรศาสตร์ IAP เผยข้อมูลการศึกษาเรื่องอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ว่า ในปี 2023 ที่ผ่านนั้น เป็นปีที่มีความร้อนสะสมอยู่ในมหาสมุทรของโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 1,000 ปี และอุณหภูมิของมหาสมุทรยังได้มีการทำลายสถิติ โดยมีความร้อนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งได้มีอัตราการทำลายสถิติความร้อนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2019
.
การค้นพบนี้มาจากงานวิจัยประจำปีของ สถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ (IAP) Chinese Academy of Sciences ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดย เฉิง ลี่จิง ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า การค้นพบข้อมูลนี้ ได้ทำให้เห็นถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้นในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากมหาสมุทรเป็นพื้นที่ที่กักเก็บความร้อนส่วนเกินไว้ 90% ในระบบภูมิอากาศของโลก เมื่อระดับก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่สูง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น มหาสมุทรทั่วโลกจะดูดซับพลังงานความร้อนที่โลกกักไว้ต่อไป ส่งผลให้ความร้อนในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
.
ปริมาณความร้อนในมหาสมุทรเป็น "ตัวบ่งชี้ที่พิเศษ" ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนตามธรรมชาติของระบบของโลก
.
ทีมวิจัย IAP ยังได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณความร้อนในมหาสมุทร โดยข้อมูลชุดหนึ่งมาจาก IAP และข้อมูลอีกชุดมาจากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NCEI) ที่สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
.
ข้อมูล IAP แสดงให้เห็นว่าความร้อนที่เก็บไว้ในมหาสมุทรที่ระดับความลึก 2,000 เมตรเพิ่มขึ้นเป็น 15 เซตตาจูลในปี 2023 และเมื่อเทียบกับข้อมูลการใช้พลังงานของโลกในปี 2022 แล้วนี่เป็นจำนวนมหาศาลที่น่าตกใจ โดยการใช้พลังงานทั้งหมดของโลกในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 0.6 เซตตาจูล
.
ส่วนในด้านข้อมูลของ NCEI ในปี 2023 คือ 9 เซตตะจูล ความคลาดเคลื่อนระหว่างตัวเลขทั้งสองนี้เกิดจากวิธีการคำนวณและการควบคุมคุณภาพข้อมูลที่แตกต่างกันซึ่งใช้โดยองค์กรต่างๆ
.
แต่ข้อมูลที่ได้เผยมานี้ทำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญ คือพลังงานที่สะสมเป็นความร้อนอยู่ในมหาสมุทรมีปริมาณมากกว่าการใช้พลังงานทั้งโลกอยู่หลายเท่า
.
ทิม โบเยอร์ นักสมุทรศาสตร์ของ NCEI หนึ่งในผู้เขียนร่วมของรายงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ..... “มหาสมุทรกำลังอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2019 จนมีสถิติระดับความร้อนในมหาสมุทรใหม่”
.
หากมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อย ก็สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ เพราะโลกของเรามีน้ำมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่โลก หากมีการเกิดขึ้น ก็จะสามารถทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างรุนแรงจนคาดเดาไม่ได้ เช่น ภัยแล้ง พายุรุนแรง น้ำท่วม และนี่เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินแก้ เพื่อโลกที่เราอยู่
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000005017