ในปัจจุบัน ต้นไม้ หนึ่งในสิ่งที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีจำนวนลดลงอย่างมาก จากหลายๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า หรือความแห้งแล้งจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ด้วยเหตุนี้ บริษัทผู้พัฒนาอย่าง Carbon Collect จึงได้มีการพัฒนา ต้นไม้ประดิษฐ์ Mechanical Tree เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษในอากาศ ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้นทุกวัน
.
แม้ Mechanical Tree สิ่งประดิษฐ์ที่จะกลายมาเป็นตัวช่วยต้นไม้ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษในอากาศจะมีรูปร่างที่แปลกตาไม่เหมือนต้นไม้ แต่คุณสมบัติที่เหมือนกับต้นไม้และมีประสิทธิภาพมากกว่าคือ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่าต้นไม้จริงถึง 1,000 เท่า
.
Klaus Lackner ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (ASU)ได้เสนอให้ใช้ Mechanical Tree หรือต้นไม้ประดิษฐ์ในการดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโดยตรง เนื่องจากต้นไม้จริงต้นหนึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนได้เฉลี่ย 9 - 15 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ซึ่งกว่าจะดูดซับได้ 1 ตัน ต้องใช้ต้นไม้หลายสิบต้น การใช้ต้นไม้ประดิษฐ์ช่วยต้นไม้จริงในการดูดซับมลพิษในอากาศจึงถือเป็นตัวเลือกที่ดี ในการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศของโลกในปัจจุบัน
.
ต้นไม้ประดิษฐ์อัจฉริยะ Mechanical Tree มีลักษณะเป็นแท่งสูงประมาณ 10 เมตร เคลือบด้วยวัสดุดักจับคาร์บอน เมื่ออากาศหมุนเวียนผ่านแผ่นเสียงเหล่านั้นก็จะเก็บคาร์บอน ลงไปจนเต็ม ก่อนจะจุ่มลงในถังซึ่งใช้ไอน้ำในการปล่อยคาร์บอนที่บรรจุไว้ออกมาแล้วเก็บไว้ในถังอีกต่อหนึ่ง และหากใช้สิ่งประดิษฐ์นี้ 12 ต้น สามารถจับคาร์บอนได้มากถึง 1 เมตริกตันต่อวัน หรือราว 1 พันกิโลกรัมต่อวัน และมากถึง 700 เมกะตันต่อปี หรือปริมาณเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ 150 ล้านคันปล่อยออกมาบนท้องถนนทุกปี
.
ในอนาคตทางบริษัทผู้ผลิตได้วางแผนสร้างฟาร์มคาร์บอนจากต้นไม้ประดิษฐ์นี้ โดยเริ่มจากฟาร์มขนาดเล็ก หากมี 1,200 ต้น จะสามารถดักได้ 100 เมตริกตันต่อวัน พร้อมวางแผนขยายไปเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เพิ่มกำลังการผลิต Mechanical Tree ให้ได้สูงสุดถึง 120,000 ต้น ซึ่งหากเรื่องนี้ เกิดขึ้นจริง คาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 10,000 เมตริกตันต่อวัน เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนจากรถยนต์ในแต่ละวันราว 800,000 คันเลยทีเดียว อีกทั้งบริษัทยังตั้งเป้าให้มีมากกว่า 250 ฟาร์มทั่วโลก โดยรวมแล้วจะสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนได้นับหลักล้านเมตริกตันต่อวัน
.
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- University of Arizona
- carboncollect.com
- www.dailymail.co.uk
- www.independent.ie
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000045272