หญ้าฝรั่นคือหนึ่งในเครื่องเทศที่จิตแพทย์แนะนำ
อาหารบางประเภทช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และช่วยให้สมองทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่ อูมา ไนโด จิตแพทย์ด้านโภชนาการและศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้
.
สุขภาพจิตและอาหารมีความเชื่อมโยงกันเช่นเดียวกับสมองและลำไส้ นี่เป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ เพื่อจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์นี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะทราบว่าทั้งสมองและลำไส้มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์เดียวกันในระยะเอ็มบริโอหรือระยะตัวอ่อนของมนุษย์ นอกจากนี้เซลล์ของทั้งสองอวัยวะยังเชื่อมโยงกันขณะที่มนุษย์กำลังพัฒนา
.
ทั้งสมองและลำไส้สื่อสารกันโดยส่งข้อความทางเคมี ที่จริงแล้ว เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความอยากอาหารและกิจกรรมอื่น ๆ ประมาณ 90-95% ถูกผลิตในลำไส้
.
นักวิชาการกล่าวในการสัมภาษณ์กับบีบีซี มุนโด (แผนกภาษาสเปน) ว่าหากทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ลำไส้จะเกิดการอักเสบและได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่ดี และยังส่งผลให้เกิดอาการวิตกกังวล ขาดสมาธิ และโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ยิ่งดูแลอาหารและลำไส้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูแลสุขภาพจิตได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจาก "มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอาหารและอารมณ์"
.
อูมา ไนโด กล่าวว่าทั้งสมองและลำไส้เชื่อมโยงตั้งแต่ตั้งช่วงครรภ์
อูมา ไนโด ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยาโภชนาการและไลฟ์สไตล์ที่โรงพยาบาลทั่วไปแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) กล่าวว่า เธอรักอาหารและการทำอาหารมาทั้งชีวิต และด้วยการที่เธอเติบโตมากับครอบครัวที่เป็นแพทย์ทั้งครอบครัว เธอจึงมักจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาในสิ่งที่เธอสนใจ
.
เมื่อศึกษาแพทยศาสตร์ เธอได้เกิดการตระหนักว่า การฝึกอบรมในด้านโภชนาการมีไม่เพียงพอ และเมื่อเธอมาศึกษาจนเชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ เธอก็เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอาหารและสุขภาพจิต
.
"นี่เป็นสาขาที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มขยายตัว" เธอกล่าว
.
ในเดือน ต.ค. 2022 ผู้เชี่ยวชาญได้พูดคุยกับบีบีซี มุนโด เกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินบีในการรักษาสมองให้เยาว์วัยและสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินบี-12, บี-9 และ บี-1ในโอกาสนี้ จิตแพทย์รายนี้ได้กล่าวถึงอาหารที่เธอพิจารณาว่ามีประโยชน์ในการปรับปรุงอารมณ์และเสริมสร้างพลังสมอง
.
1. เครื่องเทศ
ขมิ้นช่วยลดอาการวิตกกังวลได้
เป็นที่รู้กันดีว่าเครื่องเทศมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระได้ เครื่องเทศบางชนิด เช่น ขมิ้น มีผลดีในการลดความวิตกกังวล สารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ในขมิ้น อาจช่วยลดความวิตกกังวลโดยการเปลี่ยนแปลงเคมีในสมองและปกป้องฮิปโปแคมปัส [สมองส่วนที่ช่วยเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้กลายเป็นความจำระยะยาว]
.
อีกหนึ่งเครื่องเทศที่จิตแพทย์ชื่นชอบมากคือ หญ้าฝรั่น งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า หญ้าฝรั่นมีผลต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ศาสตราจารย์ไนโด อธิบายว่า การศึกษาพบว่าการบริโภคหญ้าฝรั่นช่วยลดอาการในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญ
.
2. อาหารหมักดอง
อาหารหมักดองมีหลากหลายประเภท อาหารเหล่านี้ถูกปรุงขึ้นโดยการผสมผสานจากนม ผัก หรือวัตถุดิบดิบอื่น ๆ กับจุลินทรีย์ เช่น ยีสต์และแบคทีเรีย อาหารหมักที่รู้จักกันดีที่สุดคือ โยเกิร์ตธรรมชาติที่มีเชื้อจุลินทรีย์ แต่ก็ยังมีอาหารหมักประเภทอื่น ๆ เช่น ซาวร์เคราต์หรือกะหล่ำปลีดองแบบตะวันตก กิมจิ และคอมบูฉะหรือเครื่องดื่มชาหมัก สิ่งที่อาหารประเภทนี้มีเหมือนกันคือเป็นแหล่งของแบคทีเรียที่มีชีวิตซึ่งสามารถปรับปรุงการทำงานของลำไส้และลดความวิตกกังวลได้
.
อาหารหมักดองสามารถให้ประโยชน์หลายอย่างต่อสมอง การวิเคราะห์การศึกษา 45 ฉบับที่ดำเนินการในปี 2016 แสดงให้เห็นว่าอาหารหมักดองช่วยปกป้องสมอง ปรับปรุงความจำ และชะลอการเสื่อมตัวลงของความจำ ศ.ไนโดกล่าวเสริมว่า โยเกิร์ตที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก (Probiotic) สามารถนำมาเป็นส่วนสำคัญในอาหารได้ แต่ต้องไม่ใช่โยเกิร์ตที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยความร้อน
.
3. ถั่ววอลนัท
กรดไขมันโอเมก้า-3 ในวอลนัทมีผลต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระที่ดีเยี่ยม ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงการคิดและความจำ นอกจากนี้ ถั่วยังมีไขมันและน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพที่สมองของเราต้องการเพื่อทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ซีลีเนียม (selenium) ในถั่วบราซิล
.
ศ.ไนโด แนะนำให้รับประทานถั่ววันละ 1/4 ถ้วย โดยสามารถใส่ในสลัดหรือผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถผสมกับกราโนลาหรือถั่วที่ทำเองที่บ้านได้ เพราะการผสมเองจะได้ถั่วผสมที่คุณภาพดีกว่าที่ขายในร้านค้า ซึ่งมักมีระดับน้ำตาลและเกลือสูง
.
4. ดาร์กช็อกโกแลต
ผู้ที่รับประทานดาร์กช็อกโกแลตเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่ำกว่าถึง 70% ในการมีอาการซึมเศร้า
ดาร์กช็อกโกแลตเป็นแหล่งธาตุเหล็กที่ดีเยี่ยม มันช่วยในการสร้างเปลือกที่ปกป้องเซลล์ประสาทและช่วยควบคุมการสังเคราะห์สารเคมีที่มีผลต่ออารมณ์
.
การสำรวจในปี 2019 ของผู้ใหญ่กว่า 13,000 คนพบว่าผู้ที่รับประทานดาร์กช็อกโกแลตเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่อการมีอาการซึมเศร้าต่ำกว่าถึง 70%
.
ดาร์กช็อกโกแลตยังมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก
.
5. อะโวคาโด
ด้วยปริมาณแมกนีเซียมที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของสมอง อะโวคาโดจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ช่วยเสริมความเป็นอยู่ที่ดี มีการวิเคราะห์จำนวนมากที่ชี้ว่าภาวะซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับการขาดแมกนีเซียม หลายกรณีศึกษาที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยแมกนีเซียมปริมาณระหว่าง 125-300 มิลลิกรัม แสดงให้เห็นการฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าเร็วขึ้น
.
"ฉันชอบผสมอะโวคาโด ถั่วชิกพี และน้ำมันมะกอก แล้วทาบนขนมปังปัมเปอร์นิเกิล [ขนมปังที่ทำจากข้าวไรย์และโฮลวีต] หรือเป็นน้ำสลัดสำหรับผักสด" แพทย์กล่าว
.
6. ผักใบเขียว
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าผักใบเขียวอย่างเคลหรือคะน้า สร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับสุขภาพของผู้รับประทาน แม้ผู้คนทั่วไปอาจไม่รู้สรรพคุณของผักใบเขียวมากนัก แต่ความจริงคือผักใบเขียวมีวิตามินอี แคโรทีนอยด์ (carotenoids) และฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมและภาวะถดถอยของการทำงานของสมอง
.
อีกหนึ่งประโยชน์ของอาหารเหล่านี้คือพวกมันเป็นแหล่งที่ดีของโฟเลต ซึ่งเป็นรูปแบบธรรมชาติของวิตามินบี 9 ที่สำคัญต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดโฟเลตอาจเป็นสาเหตุของปัญหาทางระบบประสาทบางอย่าง นั่นเป็นเหตุผลที่วิตามินนี้มีผลดีต่อสถานะการรับรู้และสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาท
.
“ผักต่างๆ เช่น ผักโขม ผักชาร์ด และใบแดนดิไลออน ก็เป็นแหล่งของกรดโฟลิกที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเพิ่มเติม
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cjqqwwqd5y4o