เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำเมื่ออายุมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เสนอว่าควรเปลี่ยนนิสัยแย่ ๆ 4 อย่าง

"ความทรงจำคือสมุดบันทึกที่เราทุกคนพกพามันไปด้วย" นี่คือคำกล่าวของ ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนไอริชชื่อดัง ที่ให้ความหมายของคำว่า ความทรงจำ เอาไว้

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราแก่ตัวลง ความทรงจำบางเรื่องของเราอาจสูญหายหรือจำได้แบบผิด ๆ ถูก ๆ นี่ไม่เพียงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ แต่ยังเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดด้วย

.

แต่ ศาสตราจารย์ จารัน รังกะนาต ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการหน่วยความจำแบบไดนามิก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักประสาทวิทยาคนสำคัญที่ศึกษาเรื่องความทรงจำ กล่าวว่า เราสามารถลดความเสี่ยงจากการสูญหายของความทรงจำได้

.

ในการพูดคุยกับบีบีซีมุนโด (แผนกภาษาสเปน) ผู้เขียนหนังสือ "ทำไมเราจึงจดจำ: วิทยาศาสตร์ใหม่ของความทรงจำ" (Why we remember: the new science of memory) ได้จำแนกให้เราเห็นนิสัยแย่ ๆ 4 อย่างที่เรามักทำกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่า เป็นนิสัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของสมองของเราในการจดจำสิ่งต่าง ๆ

.

ในบทความนี้ เขาได้ให้คำแนะนำเพื่อขจัดความเสี่ยงดังกล่าว

.

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ
เมื่ออายุมากขึ้น เวลานอนของพวกเรามักจะลดลง นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพ การงาน และเศรษฐกิจ ก็อาจกระทบต่อคุณภาพการนอนด้วย พฤติกรรมการนอนเช่นนี้อาจทำให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพ

.

"ตอนนี้เรารู้ว่าสมองมีระบบที่ระบายท็อกซินหรือสารพิษที่สะสมอยู่ในสมองออกไป ซึ่งได้แก่ อะไมลอยด์ (amyloid) ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนของโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการอัลไซเมอร์ระยะเริ่มแรก โดยระบบดังกล่าวจะทำงานในช่วงเวลากลางคืน" ศ.รังกะนาต ระบุ

.

นักประสาทวิทยาซึ่งศึกษาการทำงานของสมองมา 25 ปี อธิบายว่า การนอนหลับมีหน้าที่ในการฟื้นฟูระบบดังกล่าวของสมองด้วย

.

"คนที่นอนหลับไม่เพียงพอ การทำงานของสมองส่วนหน้าก็จะลดลง เช่นเดียวกับระดับความอดทนต่อความเครียด ดังนั้น สมองก็จะไม่สามารถโฟกัสได้อย่างเต็มที่" นักประสาทวิทยาคนนี้กล่าว

.

ในช่วงเวลากลางคืน สมองไม่ได้เพียงกำจัดสารที่เป็นอันตรายและชาร์จแบตเตอรีให้ตัวเองเท่านั้น มันยังช่วยจัดระเบียบความจำของเราด้วย

.

การนอนเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ช่วยรักษาความทรงจำ

"เวลานอน หน่วยความจำของสมองจะทำงานอีกครั้ง... การนอนหลับจะช่วยอำนวยให้มีการจัดระเบียบข้อมูลที่เราได้เรียนรู้มา"

.

คำแนะนำเพื่อให้การนอนหลับเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง ได้แก่ การไม่ใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอน รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก การดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก่อนเข้านอน

.

และสำหรับคนที่มีปัญหาการนอนในตอนกลางคืนด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การงีบหลับระหว่างวันมีประโยชน์อย่างมาก

.

"ประโยชน์ที่เกิดกับความจำ ยังเกิดได้จากการงีบหลับตอนกลางวัน"

.

2. ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking)
ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความยุ่งวุ่นวายในปัจจุบัน ความสามารถในการทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) ถูกมองว่าเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม ศ.รังกะนาต เตือนว่า การมัลติทาสก์อาจไม่ดีเสียมาก ๆ กับความจำของเรา

.

เหตุผลก็คือ "สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ช่วยให้เราโฟกัสสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย แต่ความสามารถที่น่าอัศจรรย์นี้จะถูกขัดจังหวะหากเรากระโดดจากเป้าหมายหนึ่งไปอีกเป้าหมายหนึ่ง"

.

เขาอธิบายว่า ในสมองของเราจะมีการแข่งขันกันระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละชุดซึ่งทำหน้าที่คนละอย่างกัน การแข่งขันกันระหว่างเซลล์ประสาทนี้เอง ที่ทำให้เป็นการยากที่สมองจะทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

.

นักประสาทวิทยาคนนี้กล่าวต่อไปว่า การเช็กอีเมลระหว่างที่กำลังนั่งฟังเลกเชอร์ในชั้นเรียนจะนำไปสู่สถานการณ์เดียวเท่านั้น นั่นก็คือการจดจำอะไรที่คุณกำลังฟังไม่ได้เลยสักอย่าง

.

"เมื่อมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ (เริ่มเช็กอีเมล) เซลล์ประสาทจะถูกเบี่ยงเบนและบันทึกความจำเป็นส่วนย่อย ๆ เพราะคุณกำลังใช้งานสมองหลายฟังก์ชันเพื่อจัดการการเปลี่ยนผ่านจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง และนั่นทำให้ยากต่อการสร้างความทรงจำที่ยืนยาว"

.

การทำงานหลายอย่างไปพร้อม ๆ กันมีผลลบต่อความจำของเรา เพราะมันจะทำให้ไม่สามารถสร้างความจำในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม ในทุก ๆ กฎเกณฑ์ย่อมมีข้อยกเว้น นั่นคือในกรณีที่งานเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกัน

.

"ถ้าคุณกำลังจะทำเค้ก แปลว่าคุณต้องเปิดเตาอบให้ร้อน และจากนั้นก็ไปเตรียมแป้งโดหรือทำอะไรคล้าย ๆ กัน คราวนี้ถ้าคุณเอางานต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันเป็นงานใหญ่งานเดียว คุณก็ยังสามารถทำมันได้" เขายกตัวอย่าง

.

สำหรับคำแนะนำในการเลิกทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่าให้พยายามทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป จึงค่อยเริ่มทำงานอีกชิ้น นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วย

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองคนนี้แนะว่า ขณะที่เรากำลังมุ่งทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ ควรปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดเสียงแจ้งเตือนข้อความและอีเมล และควรหยุดพักชั่วคราวระหว่างวันและยืดเส้นยืดสายด้วย

.

ประเด็นเรื่องการใช้เวลาไปกับการไถโทรศัพท์มือถือได้นำมาสู่อีกคำถามหนึ่ง นั่นคือ พฤติกรรมลักษณะนี้จะสร้างผลกระทบอะไรกับเด็กยุคใหม่ในปัจจุบันหรือเปล่า

.

"เป็นไปได้ว่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกอยู่บ้าง และผลกระทบในเชิงลบอื่น ๆ ด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ พวกเขากำลังสร้างนิสัยและมีกิจวัตรที่ไม่ส่งผลดีต่อความจำ"

.

งานศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2023 พบว่า วัยรุ่นและเด็กอเมริกันใช้เวลา 5-8 ชั่วโมงต่อวันในการไถโทรศัพท์

.

3. ทำแต่สิ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ
นี่อาจเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่คุณจินตนาการเอาไว้ แต่สมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกโปรแกรมมาให้จดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่จะเลือกจำเพียงบางสิ่งเท่านั้น

.

"ประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่เรามีหรือข้อมูลที่เราได้รับมาจะถูกลืมไปในที่สุด" ศ.รังกะนาต กล่าว

.

ประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับความกลัว ความโกรธ ความปรารถนา ความสุข ความประหลาดใจ หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ ที่ปลดปล่อยสารเคมีในสมองออกมา ไม่ว่าจะเป็น อะดรีนาลีน, เซโรโทนิน, โดปามีน หรือ คอร์ติซอล มีเพียงความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้เท่านั้นที่จะถูกฝังอยู่ในเซลล์ประสาทในสมองของเรา สารเคมีเหล่านี้มีส่วนช่วยให้สมองสร้างเซลล์ประสาทใหม่ได้ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจำ

.

"การสร้างและเปลี่ยนแปลงเซลล์ประสาทใหม่ ๆ ในสมองช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีการทำซ้ำ ๆ เราก็ยิ่งจะจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ศ.จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าว และบอกด้วยว่า ความสามารถในการจำจะยิ่งลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

.

ดังนั้นแล้ว กิจวัตรอย่างเช่นการจดจำรหัสพาสเวิร์ดที่เราเพิ่งเปลี่ยนจะยิ่งยากขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป

.

"เมื่อใดที่คุณเปลี่ยนรหัส คุณจะมีเซลล์ประสาทชุดหนึ่งที่มีรหัสเก่าเก็บไว้ และมันจะต่อสู่กับเซลล์ประสาทอีกอันที่ทำหน้าที่จดจำรหัสใหม่"

.

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า การเลิกทำสิ่งที่ซ้ำซากและเรื่องรูทีนซ้ำ ๆ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการพยายามรักษาการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ๆ ของสมองเอาไว้

.

ศ.รังกะนาต กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มักจะมีนิสัยที่เป็นอันตรายต่อความจำ เพราะการใช้เทคโนโลยีสื่อสารมากจนเกินไป

4. มั่นใจเกินเหตุ
"ผู้คนมักจะคิดว่าความจำของตัวเองดีเยี่ยม จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงหนึ่งของชีวิต พวกเขาจึงตระหนักว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น" ศ.รังกะนาต กล่าว

.

เรื่องนี้ไม่ได้น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สมองไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราประสบมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

.

"มีการประเมินว่า คนอเมริกันจะได้รับข้อมูลเฉลี่ยวันละ 34 กิกะไบต์ (หรือราว ๆ 11.8 ชั่วโมงต่อวัน)" ผู้เชี่ยวชาญคนนี้กล่าว

.

"จุดประสงค์ของความทรงจำไม่ใช่เพื่อการจดจำเรื่องอดีต ถึงแม้ว่ามันจะทำได้ก็ตาม แต่เป็นการหยิบฉวยข้อมูลสำคัญในอดีตที่จำเป็นต่อการเข้าใจปัจจุบันและเตรียมการสำหรับอนาคต" ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้กล่าว และอธิบายด้วยว่า เราไม่ควรพึ่งพาความทรงจำเพียงอย่างเดียวในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

.

"การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เราพยายามปลุกความทรงจำขึ้นมา เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เรากำลังมองหา"

.

"ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเราได้รับการแนะนำให้รู้จักใครบางคน ไม่กี่นาทีหลังจากนั้นให้ลองพูดชื่อคนเหล่านั้นออกมา และระหว่างที่บทสนทนากำลังดำเนินไป ก็ให้เรียกชื่อคนนั้น ๆ อีกครั้ง ยิ่งระยะเวลาที่เราเรียกชื่อเขาหรือเธอคนนั้นห่างจากกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราจำได้มากขึ้นเท่านั้น" เขาอธิบาย

.

คำแนะนำอื่น ๆ
ในการฝืนไม่ให้มีนิสัยหรือพฤติกรรม 4 ข้อเหล่านี้ ศ.รังกะนาต กล่าวว่า ยังมีอีกหลายวิธีที่จะปกป้องความทรงจำของเราได้

.

แล้วสิ่งเหล่านี้คืออะไรบ้าง

.

"ในระยะสั้น อาจพยายามนอนให้ดีขึ้น เรียนรู้ที่จะจัดการความเครียด (หรือพยายามลดสาเหตุของความเครียด) และฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยทำให้เราไม่ว่อกแว่ก"

.

ส่วนในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญคนนี้มีคำแนะนำว่า

.

"อาหารมีส่วนอย่างมาก อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (อาหารที่เน้นการกินธัญพืช ผัก ผลไม้ ปลา) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลดีต่อสุขภาพจิต" เขาระบุ

.

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ด้านสมองคนนี้ยังแนะนำด้วยว่า "การออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นวิธีการที่ดี เพราะช่วยเพิ่มการหลั่งของสารต่าง ๆ ในสมองที่ช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์สมองและช่วยปรับปรุงระบบหลอดเลือดของสมอง"

.

"สุขภาพฟันที่ดีและการได้ยินก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะมีงานศึกษาหลายชิ้นพบว่า คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความสะอาดของฟัน หรือคนที่ไม่ดูแลหู มีแนวโน้มที่จะทุกข์ทรมานกับปัญหาความจำ และสุดท้าย ความสัมพันธ์เชิงสังคมและการเปิดตัวเองออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ของสมองด้วย" ผู้เชี่ยวชาญสรุป

.

สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญคนนี้บอกว่า งานศึกษาหลาย ๆ ชิ้นบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า วิธีการที่ดีเหล่านี้ทำให้บางคนสามารถรักษาความทรงจำของตัวเองได้แม้มีอายุมาก และลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้ถึง 1 ใน 3

.

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรามีความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผลวิจัยจากสมาคมอัลไซเมอร์ของแคนาดา พบว่า คนราว 40% อาจเริ่มเผชิญกับปัญหาความทรงจำเมื่ออายุ 65 ปี

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c722ey95x4ko