ผลงาน “ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติดจากวัสดุฉลาดที่ขยายตัวได้เองสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง” จากฝีมือ 3 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในผลงานที่ตอบโจทยุ์กระบวนการรักษาแบบบาดเจ็บน้อยและการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ไทย จนสามารถคว้า รางวัลชนะเลิศ กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024 ในงาน "วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567" จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

.

นายธราธิป แสงอรุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในผู้คิดค้น “ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติดจากวัสดุฉลาดที่ขยายตัวได้เองสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า ตอนอยู่ ม.ปลาย ตนเองและพลาจักษณ์ ได้ร่วมทำโครงงานที่นำยางพารามาประยุกต์เป็นแผ่นปูพื้นและสนับเข่าสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งประกวดในและต่างประเทศ และด้วยความชื่นชอบเรื่องวัสดุศาสตร์ จึงมาเรียนต่อในภาควิชาเครื่องมือและวัสดุ มจธ. ก่อนจะย้ายมาเรียนที่ภาควิชาวิศกรรมเครื่องกล เพราะได้เห็นงานวิจัยในห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) ที่มีความหลากหลาย มี know how หลายอย่าง ประกอบกับส่วนตัวอยากจะทำวิจัยเกี่ยวกับขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติด เพราะเห็นว่ามีประโยชน์สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ไกลและมีผลกระทบต่อประเทศ

.

ด้าน นายพลาจักษณ์ ปานเกษม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า แม้ตนเองเลือกเรียนในภาควิชาวิศวกรรมโยธา แต่เรื่องขวดลวดนี้คืองานในเชิงวัสดุศาสตร์ที่ตนเองก็ยังมีความสนใจอยู่ ที่สำคัญคือ การทำงานนี้ทำให้ตนเองมีโอกาสอบรมความเป็นไปได้ของชิ้นงานนี้ในด้านธุรกิจ อบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและได้พบเจอกับนักลงทุน ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีความรู้หลากหลายมากขึ้น รู้ว่าการไปเป็นสตาร์ทอัพต้องทำอย่างไร จากเดิมที่ไม่เคยรู้และไม่เคยสนใจมากก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญพอๆ กับการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ และเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้กับงานอื่นๆ ได้อีกด้วย

.

สำหรับ นายจิรพนธ์ เส็งหนองแบน เจ้าของรางวัลที่ 2 จากเวทีโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก Regeneron ISEF จากผลงาน “การพัฒนาวัสดุปลูกที่ใช้ทางอากาศ คือ การปล่อยเมล็ดพืชทางอากาศและใช้แรงในการแตกกระจายของรูปทรงเลียนแบบผลน้อยหน่าเครือ ที่ทำให้กระจายเมล็ดไปในทิศทางต่างๆ ได้ไกลเพื่อช่วยฟื้นฟูป่าที่ถูกไฟไหม้” เมื่อครั้งศึกษาในระดับ ม.ปลาย และปัจจุบันก้าวเข้าสู่รั้ว มจธ. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ นักศึกษาชั้นปี 1 สาขาวิชาการบูรณาการการออกแบบด้วยพหุปัญญา (MIDI) กล่าวว่า ที่มาร่วมทำงานวิจัยนี้เพราะมีความน่าสนใจ และตนเคยเสียคุณตาไปด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ จึงอยากจะมีส่วนช่วยเหลือคนอื่นที่อาจจะเจอเหตุการณ์แบบเดียวกับตน

.

เหตุผลที่ทำให้ทั้ง 3 คน สนใจจะทำโครงงานวิจัยเรื่องนี้นั้น นายธราธิป หัวหน้าทีม

กล่าวว่า หลอดเลือดแดงคาโรติด (carotid artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ส่งเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง หากเกิดการตีบหรือมีลิ่มเลือดมาอุดตัน ก็อาจจะทำให้สมองขาดเลือด และเกิดอัมพาตตามมา โดยปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองคาโรติดตีบนี้ค่อนข้างมาก ปีหนึ่งๆ กว่า 100,000 คน และยังพบว่ามีจำนวนของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและอันตรายจากโรคนี้เริ่มจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะอาหารการกิน โดยกลุ่มคนเป็นโรคหลอดเลือดสมองคาโรติดตีบจะมีอัตราการเสียชีวิต 15% และอีก 15-20% ในกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้จะเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ปัญหาคือ อุปกรณ์ในการถ่างหลอดเลือดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนอกจากมีราคาแพงแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาให้เข้ากับสรีระของคนตะวันตกมากกว่าคนเอเชีย“การใช้อุปกรณ์ที่ทำขึ้นในต่างประเทศอาจไม่เหมาะกับสรีระของคนไทยนัก หากเราสามารถสร้างอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดนี้ได้ ก็น่าจะต่อยอดไปสู่งานเชิงพาณิชย์ได้ จึงชวนเพื่อนๆ มาทำด้วยกัน โดยนำต้นแบบเวอร์ชั่น 1 ที่รุ่นพี่ใน SMART LAB ทำไว้ มาพัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 2 เมื่อปลายปี 2566 และได้รับรางวัลชนะเลิศ จาก วช.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”

.

ด้าน นายพลาจักษณ์ กล่าวถึงนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า จุดเด่นของเวอร์ชั่นนี้ คือการออกแบบให้ขดลดมีลักษณะเรียวปลาย หรือสโลป เป็นสูตรใหม่ที่เราพัฒนาขึ้น โดยออกแบบแพทเทิร์นลายสานลวด ที่ให้เกิดการกระจายแรงที่ดีขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดบาดแผลในหลอดเลือดให้น้อยลง รวมถึงมีการคำนวณสูตรของส่วนผสมต่างๆ ที่นำมาผลิต เพื่อให้ได้ขดลวดสามารถทำหน้าที่รับแรงดันเลือดที่อุณหภูมิ 37 องศาได้ตามต้องการ โดยมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเพราะขดลวดนี้จะต้องอยู่ในหลอดเลือดแดงคาโรติดของผู้ป่วยไปตลอดชีวิต

.

“เมื่อออกแบบให้ลักษณะของขดลวดมีความเรียวที่ปลาย หรือสโลป วิธีการผลิตต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป การทำงานก็มีความยากขึ้น เราจึงมีการแบ่งหน้าที่กัน โดยตนในฐานะเครื่องกล จะรับผิดชอบการใช้งานจริงว่าจะต้องมีอะไรบ้างและทดสอบให้ตรงกับที่องค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด ส่วนซีจะเป็นคนออกแบบชิ้นงาน รูปแบบลายสาน ออกแบบแพทเทิร์น ขณะที่โชกุนจะช่วยเรื่องการสานลวด การออกแบบตัวโม และมองภาพรวมทิศทางความเป็นไปได้กับการใช้งานจริง ศึกษาค้นคว้าความเป็นไปได้ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ในตลาด ข้อมูลทั้งในเชิงธุรกิจและวิจัย” 

.

รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) มจธ. กล่าวว่า เราเป็นห้องปฏิบัติการที่พัฒนาเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์เน้นเรื่องของการเอาวัสดุฉลาดมาใช้ในกระบวนการรักษาแบบบาดเจ็บน้อยที่สุด โดยผลงานขดลวดของนักศึกษาทั้ง 3 คนนี้ ยังอยู่ระดับเทียร์ 3 (Tier3) คือ ระดับการออกแบบ ทำต้นแบบ และทดสอบพื้นฐาน โดยในขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบความปลอดภัย และการทดสอบกับสิ่งมีชีวิต ตามเกณฑ์ของ อย. เป็นลำดับต่อไป โดยทางห้องปฏิบัติการตั้งเป้าว่า จะสามารถผลิตในโรงงานเพื่อทดลองใช้กับมนุษย์ และเกิดการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายจริงได้ภายในปี 2568

.

“ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติด ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดทั่วโลกกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะที่ราคานำเข้าชิ้นละมากกว่า 1 แสนบาท ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง นอกจากจะเหมาะกับสรีระคนไทยแล้ว ยังจะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้มากขึ้น ในราคาที่ถูกลง รวมถึงโอกาสที่จะใช้กับผู้ป่วยชาวเอเชีย ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย”

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000058880