•ทีดีอาร์ไอ สะท้อนวิธีการลด-งดถุงพลาสติกประเทศไทย ตอบโจทย์โลก คืบหน้าช้า เพราะมาตรการไม้แข็งไม่แข็งแรง
•ปีนี้หลายภาคส่วนจับมือ ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ปัญหาขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ผ่านหลายแคมเปญหลายโอกาส ถือว่ามาถูกทาง
•ชวนส่องโครงการ แพลตฟอร์ม รณรงค์คัดแยก ต่ออายุขยะ “ไม่เทรวม” “วน” กำลังทำอะไร

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) ประกาศแนวคิดธีม "Planet VS Plastics: ลดพลาสติก กู้วิกฤติโลกเดือด" เมื่อวันคุ้มครองโลกที่ผ่านมา (22 เม.ย.67) พร้อมคาดหวังให้แต่ละประเทศรวบรวมปริมาณพลาสติก ที่เก็บรวบรวมได้นำมาคำนวณในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลาสติกจากกระบวนการผลิต ร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2040 รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและวัสดุที่เป็นนวัตกรรมเพื่อทดแทนพลาสติก

.

ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมไทย ออกมาร่วมแสดงพลังความร่วมมือในการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และนำมาสู่แนวคิด 4 ป.เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างคุ้มค่าที่สุด คือ ปฏิเสธ พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ปรับ พฤติกรรมใช้พลาสติกให้คุ้มค่าที่สุด เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ แปลงร่างเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก (ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycling) เพื่อให้มีการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า

.

วันปลอดถุงพลาสติกสากล เมื่อ 3 ก.ค.ที่่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อวันปลอดถุงพลาสติกสากล International Plastic Bag Free Day 2024 (3 ก.ค.67) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายสมาคม จำนวน 45 หน่วยงาน รวมกว่า 31,000 สาขาทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตอกย้ำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 อีกครั้ง

.

กิจกรรมรณรงค์ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือที่สำคัญ 3 ประการ

.

1.ร่วมกันส่งเสริมการลด หรือเลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ประเภท ได้แก่ “ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ” “ถ้วยหรือแก้วพลาสติก” และ “หลอดพลาสติก”
2.สนับสนุนให้มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570
3.สร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ลดปริมาณขยะที่ต้นทาง สนับสนุนการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

.

ทั้งสองโอกาสที่กล่าวข้างต้นเป็นกิจกรรมรณรงค์ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเนื่องในโอกาสวันสำคัญเพื่อขับเคลื่อนมุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero 2065 ซึ่งในปีนี้มีความก้าวหน้ามากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือคึกคักกว่าทุกปี

.

ประเทศที่ประสบผล ต้องใช้ไม้แข็งร่วม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า“ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแชมป์ขยะทะเล ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ การป้องกันและแก้ไขต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมามาตรการที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิผล เพราะเป็นไม้อ่อน ซึ่งในต่างประเทศจากผลศึกษาพบว่า การใช้มาตรการเชิงสมัครใจลดขยะพลาสติกมีประโยชน์จริงแต่ขาดประสิทธิภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคเอกชนในสาขาค้าปลีกเคยรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน เป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป และมีไม่กี่รายกล้าเก็บเงินจากผู้บริโภค เพราะกลัวผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้ผู้บริการผู้ค้าปลีกรายอื่นบางรายแถมแต้ม ซึ่งต่อมามาตรการนี้ก็เหมือนลดความเข้มข้น ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่ามาตรการสมัครใจทำแล้วประชาชนตื่นตัวมากขึ้นก็จริง แต่สิ่งสำคัญกว่าพวกเขาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะหนุนเสริม" ดร.สมเกียรติ กล่าว

.

ประธาน TDRI ยกผลศึกษาหลายประเทศที่ก้าวหน้าในการลดปริมาณขยะพลาสติก เพราะใช้ไม้แข็ง อย่างประเทศอังกฤษเก็บเงินค่าใช้ถุงพลาสติกใบละ 2 บาท นิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และอีกหลายประเทศทดลองห้ามใช้ หรือเก็บเงิน เมื่อท้องถิ่นใดประกาศห้ามใช้ ซึ่งเป็นมาตรการรุนแรง เมื่อฝืนใจใช้แล้วมักประสบผลสำเร็จเพราะสามารถแก้ปัญหาต้นทาง ไม่สร้างขยะใหม่เพิ่ม และหาทางกลับมาใช้ใหม่ โดยการรีไซเคิลแยกส่วน หรือนำมาเผาผลิตพลังงาน และทำให้การฝังกลบลดลง ทั้งหมดเป็นแนวทางจัดการขยะครบวงจร แต่สำคัญที่สุดไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจากการลดการผลิตขยะต่างๆ ไม่ใช่สร้างเตาเผาหรือบ่อฝังกลบกำจัดขยะ แต่จะต้องลดขยะตั้งแต่ต้นทางซึ่งไม่ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น

.

“กรณีไทยต้องใช้หลายมาตรการผสมกัน ไม้แข็ง อย่างที่เสนอเลิกใช้กล่องโฟมใส่อาหาร เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โฟมย่อยสลายยาก เสี่ยงต่อสุขภาพ สารเคมีปนเปื้อนสู่ร่างกายผู้บริโภค อันนี้ประสบผลเพราะคนส่วนใหญ่มองเห็นภาพอันตรายต่อสุขภาพจริง ส่วนกรณีถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ต้องเก็บเงินใช้ถุงพลาสติก เริ่มในราคา 1.50-2 บาท ถือเป็นราคาเหมาะสมที่กรมควบคุมมลพิษศึกษาไว้ เริ่มจากโมเดิร์นเทรด หรือการค้าปลีกสมัยใหม่ก่อน เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เพราะมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกมากกว่าตลาดสดหรือร้านค้าทั่วไป อีกทั้งติดตามผลก็ง่ายกว่าในระยะเริ่มต้นเพื่อให้ประชาชนปรับตัว ตอนนี้เห็นหลายห้างนำมาใช้แล้ว แต่หลายแห่งก็เห็นว่ากลับมาแจกฟรีอีก ส่วนการลดขวดพลาสติกควรใช้กลไกให้มัดจำค่าขวด เป็นต้น" ดร.สมเกียรติกล่าว

.

ประธาน TDRI ย้ำว่า มาตรการจากรัฐอย่างเดียวไม่เป็นผลหากไม่มีการรณรงค์ลดขยะตั้งแต่ต้นทางกับประชาชนคัดแยกขยะ ซึ่งกลไกแยกขยะของท้องถิ่นต้องมีประสิทธิผล อย่างที่ตอนนี้ กทม.รณรงค์ “ไม่เทรวม” มีธนาคารขยะ เข้าไปร่วมรณรงค์กับภาคส่วนธุรกิจต่างๆ กรณีที่ผู้บริโภคเก็บของรีไซเคิลมีรางวัลจูงใจ ลดบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและนักวิจัยต้องร่วมกันหาวัสดุใหม่แทนถุงพลาสติก เบื้องต้นอาจเป็นต้นทุน แต่เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ

.

"ขยะพลาสติกยังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงของประเทศไทย ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ควรต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง เพื่อให้สิ่งที่รัฐประกาศว่าขยะเป็นวาระแห่งชาติบรรลุผลลัพธ์อย่างแท้จริง”

.

จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) พบว่าส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ และถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

ทั้งนี้ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม มักเกิดจากผู้บริโภคไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ

.

กทม. แท็กทีมเครือข่าย จัดไดร์ฟทรูรับขยะ “บ้านนี้ไม่เทรวม”

ตั้งแต่เดินหน้าโครงการ “ไม่เทรวม” กรุงเทพมหานคร รณรงค์ให้ชาวกทม.คัดแยกขยะง่ายๆ ก่อนทิ้ง เพียงแยกขยะออกเป็นสองส่วน คือ ขยะเปียก และขยะแห้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปคัดแยกและส่งต่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการต่ออายุขยะ เพราะจะมีขยะพลาสติกจำนวนมากที่นำกลับไปรีไซเคิลได้

.

ล่าสุด (6 ก.ค.67) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ N 15 Technology , Wake up Waste , Waste buy Delivery , Recycle Day , Bangkaya(บางขยะ) , Ecolife , shinMaywa , Food Bank จากสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตดินแดง จัดกิจกรรมประเภท Drive Thru ขับรถเอาขยะ/ของเก่า/ของเหลือใช้มาทิ้งให้กับภาคีเพื่อนำไปจัดการต่ออย่างถูกวิธี เพื่อจะได้ลดขยะที่ไปฝังกลบ ณ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โดยให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเป็น "บ้านนี้ไม่เทรวม" เพื่อรับป้ายที่ระลึกบ่งชี้เป็นบ้านที่แยกขยะ พร้อมรับถุงขยะฟรี

.

โครงการ “วน” แนะวิธีวนใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า

โครงการ “วน” (Won Project) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างพลาสติกชนิดอ่อน (ถุงและฟิล์มพลาสติก) ประเภท HDPE/LDPE ที่ยืด สะอาดและแห้ง กลับมา Recycle หรือ Upcycle เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้พลาสติกหมุน “วน” เป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก Circular Economy ไม่ให้พลาสติกรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือจบลงที่บ่อขยะ

.

นอกจากตั้งจุดวาง “ถังวนถุง” กว่า 350 จุด ให้ประชาชนได้นำถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกสะอาดเหลือใช้ ที่กำหนดไว้ทั้ง 12 ชนิด ไปทิ้ง โดยโครงการรับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด เช่น ถุงห่อผ้าอ้อม ฟิล์มพลาสติกหุ้มขวดน้ำ หรือฟิล์มกันกระแทกที่มากับสินค้าออนไลน์ ก่อนนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกสำหรับใช้ในการผลิตถุงหูหิ้ว และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ทีมงานยังให้ความรู้ เสนอแนะวิธีการแยกขยะ และการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรที่แท้จริง

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000059941