เมนูควอเตอร์พาวน์เดอร์ของแมคโดนัลด์ พร้อมเนื้อและผัก (ที่มา:รอยเตอร์)

หอมหัวใหญ่กำลังเป็นผู้ต้องสงสัยหลักที่ก่อให้เกิดการระบาดของเชื้ออีโคไลจากแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์หลายสาขาในสหรัฐฯ ซึ่งอีกด้านหนึ่งสะท้อนความยุ่งยากในการควบคุมสุขอนามัยของผลผลิตทางการเกษตร

.

รอยเตอร์รายงานว่า ณ วันศุกร์ เชื้ออีโคไลที่ระบาดจากเมนูควอเตอร์พาวน์เดอร์ในเชนฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ในพื้นที่ภาคตะวันตกและเขตมิดเวสต์ของสหรัฐฯ ทำให้มีผู้ป่วยแล้วอย่างน้อย 75 คน ส่งผลให้แมคโดนัลด์เกือบ 3,000 สาขาต้องยกเลิกเมนูดังกล่าว

.

หลังเกิดเหตุ ร้านฟาสต์ฟู้ดภายใต้เครือบริษัท Yum Brands เช่นทาโก้เบลล์ พิซซ่าฮัทและเคเอฟซีในสหรัฐฯ จะงดเสิร์ฟหัวหอมสดในเมนูอาหาร ตามคำแถลงของบริษัทในวันพฤหัสบดี

.

สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ รายงานในวันศุกร์ว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่มีข้อมูลในมือ 61 คน มี 22 คนที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และมีสองคนที่มีอาการเม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย

.

ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า นับตั้งแต่เหตุระบาดของอีโคไลในเนื้อวัวจากแฮมเบอร์เกอร์ของร้านแจ๊คอินเดอะบอกซ์ (Jack in the Box) เมื่อปี 1993 ที่ทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 170 คน และตายอีกสี่ราย รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เข้ามาควบคุมสุขอนามัยของเนื้อวัวมากขึ้นจนเกิดเหตุในลักษณะเดียวกันน้อยลง

.

แต่ในทางกลับกัน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างผักกลับเป็นปัญหาในการควบคุมความสะอาด

.

เหตุที่เกิดกับแมคโดนัลด์ในครั้งนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2022 กับผักกาดในร้านเวนดีส์ และร้านทาโคเบลล์เมื่อปี 2006

.

โดนัลด์ แชฟเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยทางอาหาร มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส กล่าวว่าสิ่งที่สร้างความแตกต่างด้านสุขอนามัยที่เห็นได้ชัดที่สุด คือการที่เนื้อวัวถูกเสิร์ฟหลังจากปรุงสุก ส่วนผักหลายประเภทถูกใช้แบบดิบ ๆ หรืออาจถูกจับหรือหั่นอย่างไม่เหมาะสมจนปนเปื้อนระหว่างกระบวนการ

.

ไม่เพียงเท่านั้น ในกระบวนการผลิตพืชผัก ที่แม้มีการชะล้างให้สะอาดตามมาตรฐานที่เทียบเท่ากับที่ทำกับเนื้อวัว แต่การทดสอบอาจไม่สามารถตรวจจับการปนเปื้อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

.

มานซูร์ ซามัดปัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหาร กล่าวว่าพืชที่ปลูกกลางแจ้งสามารถเจอสิ่งปนเปื้อนได้จากหลายต้นทาง เช่นมูลจากสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าในพื้นที่ ที่อาจปะปนมาตามทางน้ำ และอีโคไลก็เป็นเชื้อโรคที่พบได้ทั่วไปในลำไส้ของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะวัว

.

เขากล่าวว่าหน่วยงานด้านเกษตรกรรมสหรัฐฯ (USDA) กวดขันเรื่องการตรวจสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์เนื้อวัว แต่แม้จะมีความเข้มงวดกับผักและผลไม้ในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ยังมีความผิดพลาดที่ตรวจไม่พบ

.

ในส่วนของแมคโดนัลด์และเทย์เลอร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตหอมหัวใหญ่ส่งให้กับสาขาในพื้นที่เกิดเหตุนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร แต่โฆษกของทั้งสองบริษัทระบุว่าได้มีการตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์ของหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคแล้ว แต่ก็ไม่พบเชื้ออีโคไล

.

ไมค์ เทย์เลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ ทนายความที่เป็นสมาชิกกรรมการกลุ่มไม่แสวงผลกำไร STOP Foodborne Illness กล่าวกับรอยเตอร์ว่าการดูแลสุขอนามัยในผักและผลไม้ ควรทำในระดับผู้ซื้อ ด้วยการรวมตัวกำหนดมาตรฐานความสะอาดจากผู้ขาย สืบเนื่องจากภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมนี้ที่มีผู้ขายหลายราย

.

ซามัดปัวร์ จากบริษัท IEH กล่าวว่าการฉายรังสีสามารถฆ่าเชื้อในผักและผลไม้ได้อย่างแน่นอน แต่วิธีนี้ไม่สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวนมากได้ในทางปฏิบัติ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริโภคยังมีทัศนคติที่ไมดีต่ออาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาก่อน

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/mcdonald-ecoli-outbreak-underlines-produce-safety-difficulty/7839564.html